วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2552

“ท่านก๋งแดง” วัดแหลมมะขาม

“ท่านก๋งแดง” วัดแหลมมะขามกับ
“เกวียนพระราชทาน” ของรัชกาลที่ ๕


อภิลักษณ์ เกษมผลกูล
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


กุฏิเก่าในวัดแหลมมะขาม อ.แหลมงอบ จ.ตราด

ในการเสด็จพระราชดำเนินประพาสเมืองตราดแต่ละคราว โดยมากมักจะเสด็จยังวัดในท้องถิ่นนั้นเพื่อพระราชทานพระราชทรัพย์และบำเพ็ญพระราชกุศลอยู่เสมอ ดังในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ขึ้นที่ แหลมงอบและจะมุ่งไปตัวเมืองตราดนั้น เล่ากันว่าทรงแวะนมัสการพระเถรานุเถระของวัดที่ผ่านเส้นทางเสด็จแทบทุกวัด เริ่มตั้งแต่วัดแหลมงอบ ซึ่งขณะนั้นเรียกว่าวัดสุวรรณาเขตร์ แล้วประทับแรมอยู่ที่วัดแหลมงอบ รุ่งขึ้นเสด็จพระราชดำเนินมาที่บ้านแหลมมะขามเพื่อนมัสการพระอธิการแดง หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกกันว่า ท่านก๋งแดง ที่วัดตะพงษ์ทองด้วย[1] ซึ่งเรื่องราวที่ชาวบ้านเล่ากันสืบมานี้น่าจะตรงกับบันทึกในเอกสารจดหมายเหตุที่กล่าวถึงการเสด็จประพาสเมืองตราดครั้งที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๔๔๓) ซึ่งมีข้อความดังนี้


ทรากเกวียนเก่าที่พบภายในวัดแหลมมะขาม

วันที่ ๙ มีนาคม เวลาเช้า ๒ โมงเศษเรือพระที่นั่งตรงโรงทหารออกมาห่างฝั่ง เวลาบ่าย ๕ โมงครึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน ลงสู่เรือพระที่นั่งกรรเชียงไปประพาศที่ตำบลแหลมงอบ ทอดพระเนตรโรงทหาร พระยานรเชษฐวุฒิไวยจางวางเมืองตราด ๑ พระยาพิพิธพิไสยสุนทรการ ผู้ว่าราชการเมือง ๑ พร้อมด้วยปลัดแลกรมการผู้ใหญ่บ้าน ราษฎรกับนายทหาร แลพลทหาร ซึ่งรักษาราชการอยู่ในที่นี้มาคอยรับเสด็จ มีพระราชดำรัสด้วยตามสมควรแล้วเสด็จขึ้นทรงระแทะเทียมโคหนึ่งคู่ ไปประพาศตามถนนทางจะไปเมืองตราด ถึงวัดสุวรรณาเขตร (ราษฎรเรียกวัดแหลมงอบ) หยุดระแทะพระที่นั่ง เสด็จลงประพาศที่ลานน่าวัดนี้ ได้จัดทำปรำสำหรับพระสงฆ์นั่งสวดคาถาถวายไชยมงคล รวมพระสงฆ์ ๓๑ รูป มีพระครูวิมลเมธาวัดบุรินทรประดิษฐ เจ้าคณะเมืองเปน ประธาน ตามพื้นลานนอกปรำมีราษฎรมาคอยเฝ้า แลนำสิ่งของต่าง ๆ ทูลเกล้า ฯ ถวาย ทรงพระดำเนินเข้าสู่ในปรำมีพระราชปฏิสัณฐานแก่พระสงฆ์เหล่านั้น ตามสมควรแล้ว พระราชทานวัตถุปัจจัยมูลราคา ๔๐ บาท แก่พระครูวิมลเมธาซึ่งเปนเจ้าคณะ พระราชทานพระเกตเจ้าอธิการวัดนั้น ๒๐ บาท พระสงฆ์อันดับ ๒๙ องค์ๆ ละกึ่งสลึงแล้วเสด็จมาที่หมู่ราษฎรเฝ้า โปรดเกล้าฯ พระราชทานแจกเสมาผูกคอเด็ก แลแจกเงินแก่ราษฎรที่ทูลเกล้าฯ ถวายของเหล่านั้นทั่วแล้วเสด็จขึ้นทรงระแทะประพาศต่อไป
ถึงที่ประทับร้อนตำบลสะแก หยุดระแทะพระที่นั่งเสด็จลงประพาศตามบ้านราษฎรในบริเวณนั้น แลพระราชทานเสมาผูกคอเด็กชาวบ้านนั้นด้วย แล้วเสด็จกลับมาที่ๆ ประทับ รวมระยะทางที่เสด็จพระราชดำเนินแต่ท่าขึ้นมา ถึงที่นี้ประมาณ ๙๐ เส้น ทางนี้กรมทหารเรือตัดใหม่ไปกึ่งเมืองตราด ระยะทาง ๕๒๐ เส้นประทับอยู่ประมาณครู่หนึ่ง แล้วเสด็จโดยเรือพระที่นั่งกลับตามทางเดิม ถึงโรงทหารเสด็จลงจากระแทะ พระราชทานแจกเสมาผูกคอเด็กอีกครั้งหนึ่ง ...

เมื่อมาถึงวัดตะพงษ์ทอง (แหลมมะขาม) ทรงแวะนมัสการพระอธิการแดง และทรงถวายเกวียนแด่พระอธิการแดงด้วย เกวียนพระราชทานนี้เป็นเกวียนเทียมวัวที่พิเศษว่าเกวียนทั่วไป ตัวเกวียนทำด้วยไม้อย่างดี เวลาจะนำออกมาใช้ต้องใช้หลายคนหาม โดยเฉพาะกระพวนที่คอวัวนั้นเล่ากันว่าเสียงกังวานดังมาแต่ไกลดังเรื่องเล่าของอดีตศิษย์วัดที่เล่าว่า [2]

…..ตาแฝ่นี้เป็นลูกศิษย์ท่านก๋งแดงมีเพื่อนมาก เวลาท่านก๋งไปวัดไผ่ล้อม (ตาแฝ่)ก็จะมาเล่นกันอยู่หลังวัดเล่นกัน เด็กเล่นกันมันจะสุมหัวเล่นกันจนลืม แต่พอเสียงกระดึงเกวียนดัง ไอ้พวกนี้จะทิ้งของเล่นแล้วรีบไปก่อไฟ ไอ้คนไหนติดเตาไฟก็ติด ไปก่อฟืนจะต้มน้ำเพราะกลับมาท่านก๋งจะสรงน้ำ จะต้องฉันน้ำชา.....

เล่ากันว่าคราวนั้นท่านอธิการแดงได้ฝากเด็กชาวบ้านแหลมมะขามไปศึกษาและรับราชการด้วย คือ เด็กชาย เศียร ราหุลนันท์ (เศียรได่)[3] ต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นตำแหน่งนาวาตรี หลวงศิลป์สาคร เศียรได่ นี้มีพี่ชื่อคล้องจองกัน ชื่อสายดุ่ย คนโตชื่อ เรือง ทั้งหมดเป็นบุตรของนายห่วงกับนางฉิ่ง ชาวบ้านแหลมมะขาม[4]

รูปเศียรได่ (นาวาตรี หลวงศิลป์สาคร)


รูปสายดุ่ย

เมื่อเสร็จจากวัดแหลมมะขามแล้วจึงได้เสด็จฯ ต่อยังวัดน้ำเชี่ยวโดยมีพระอธิการแดงมาส่งเสด็จฯ ในบ่ายวันเดียวกัน จากวัดน้ำเชี่ยวก็ทรงแวะที่วัดไทรทอง

ต้นฉบับหนังสือแจ้งข่าวมรณภาพของพระครูพุทธคุณคชทีป
พระอธิการแดงนี้ ภายหลังต่อมาได้มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ดังปรากฏในหนังสือแจ้งข่าวมรณภาพ ของมหาเสวกตรี พระยาเมธาธิบดี อธิบดีกรมธรรมการ ความว่า

ที่ ๒๓/๔๗๐๗ กรมธรรมการ
แพนกกรมสังฆการี
วันที่ ๑๐ มกราคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๖
เรียน มหาเสวกโท พระยาราชาสาสนโสภณ ราชเลขานุการในพระองค์
ด้วยพระครูพุทธิคุณคชทีป (แดง) วัดแหลมมะขาม เจ้าคณะแขวงอำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด อาพาธเป็นโรคผอมแห้งถึงมรณภาพวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๖ และพระครูวิมลคุณากร (ศุข) วัด... เจ้าคณะแขวงอำเภอวัดสิงห์ จังหวัดไชยนาทอาพาธเปนโรคชรา ถึงมรณภาพวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๖ จึงเรียนมาเพื่อให้หมายทะเบียนพระสมณศักดิ์ตามเคย
ขอแสดงความนับถืออย่างสูงมายังท่าน
มหาเสวกตรี พระยาเมธาธิบดี
อธิบดีกรมธรรมการ

เกร็ดเรื่องรัชกาลที่ ๕ พระราชทานเกวียนแก่ท่านก๋งแดงข้างต้น เป็นเรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมาและมีบันทึกอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ นับเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจของชาวบ้านแหลมมะขามและชาวตราด ที่ครั้งหนึ่งบรรพบุรุษของเราเคยได้เห็น “พระราชศรัทธา” ของพระพระราชาผู้เป็นที่รักยิ่งในการแสดงน้ำพระราชหฤทัย บนแผ่นดินเกิดอันเป็นที่รักยิ่งของเราทุกคน




บรรณานุกรม

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๗ แผ่นที่ ๕๒ วันที่ ๒๔ มีนาคม ร.ศ.๑๑๙
ละออง แก้ววิเชียร .อายุ ๘๔ ปี. บ้านเลขที่ ๕๘ หมู่ ๕ ต.แหลมงอบ อ.แหลมงอบ
จ.ตราด สัมภาษณ์วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๘.
สนอม ประกรศรี อายุ ๗๗ ปี ทายาททวดหล่ำ, บ้านเลขที่ ๑ หมู่ ๖
ต.แหลมงอบ อ.แหลมงอบ จ.ตราด สัมภาษณ์วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๘.
สมโภชน์ วาสุกรี. อายุ ๕๕ ปี หมู่ ๓ ต. แหลมงอบ อ.แหลมงอบ จ.ตราด สัมภาษณ์
วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๘
[1] สมโภชน์ วาสุกรี. อายุ ๕๕ ปี หมู่ ๓ ต. แหลมงอบ อ.แหลมงอบ จ.ตราด สัมภาษณ์วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๘
[2] สมโภชน์ วาสุกรี. อายุ ๕๕ ปี หมู่ ๓ ต. แหลมงอบ อ.แหลมงอบ จ.ตราด สัมภาษณ์วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๘
[3] นายเศียรนั้นเกิดเมื่อ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๔ รับราชการครั้งแรกเมื่อ วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๕ ในต้นรัชกาลที่ ๖ เมื่อครั้งที่ได้ติดยศเรือตรี ตำแหน่งผู้การเรือ ก็กลับมาเยี่ยมบ้าน จึงทราบข่าวว่าบิดามารดาถึงแก่กรรม แล้วเข้าไปกราบนมัสการพระอธิการแดงเพื่อแสดงกตัญญุตาจิต พระอธิการแดงเมื่อเห็นนายเศียรในชุดเครื่องแบบนายทหารก็จำไม่ได้จึงถามว่าเป็นใครมาจากไหน นายเศียรจึงว่า “เศียรได่ไง ท่านพ่อจำไม่ได้เหรอ” ท่านจึงตอบว่า “มึงนี่เป็นถึงขนาดนี้เชียวเรอะ กูนึกว่ามึงเป็นอั้งยี่ตายไปแล้ว” และเมื่อกลับมาเยี่ยมบ้านเกิดในคราวต่อไปได้ซื้อรถเจ๊กมาถวาย ส่วนนายสายดุ่ยผู้ได้เป็นกำนัน ต่อมาได้เป็นนายประภาคารแหลมงอบ ส่วนพี่ชายคนโต คือนายเรือ เป็นผู้ใหญ่บ้านแหลมมะขาม (ละออง แก้ววิเชียร .อายุ ๘๔ ปี. บ้านเลขที่ ๕๘ หมู่ ๕ ต.แหลมงอบ อ.แหลมงอบ จ.ตราด และ สนอม ประกรศรี อายุ ๗๗ ปี ทายาททวด หล่ำ บ้านเลขที่ ๑ หมู่ ๖ ต.แหลมงอบ อ.แหลมงอบ จ.ตราด สัมภาษณ์วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๘.)
[4] ละออง แก้ววิเชียร .อายุ ๘๔ ปี. บ้านเลขที่ ๕๘ หมู่ ๕ ต.แหลมงอบ อ.แหลมงอบ จ.ตราด และ สนอม ประกรศรี อายุ ๗๗ ปี ทายาททวดหล่ำ บ้านเลขที่ ๑ หมู่ ๖ ต.แหลมงอบ อ.แหลมงอบ จ.ตราด สัมภาษณ์วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๘.

วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2552

แนะนำ:หนังสือเล่าเรื่องเมืองตราษบุรี เล่ม๑

เล่าเรื่องเมืองตราษบุรี เล่ม ๑
บันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ภาษาและวรรณกรรมพื้นบ้านตราด
เอกสารโครงการตราดศึกษาหนังสือเพื่อการเรียนรู้และเข้าใจวิถีชีวิตท้องถิ่นชาวตราด


เขียนโดย อภิลักษณ์ เกษมผลกูล
จัดพิมพ์โดยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ร่วมกับคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พุทธศักราช ๒๕๕๒

พิมพ์ครั้งที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๒ จำนวน ๒๐๐ เล่ม
พิมพ์ครั้งที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๒ จำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม


ถ้อยแถลงจากผู้เขียน

ในท่ามกลางความเจริญทางการศึกษาสมัยใหม่ ที่มุ่งสอนให้เราแสวงหาความรู้และเรียนรู้โลกกว้าง สอนให้เราตั้งคำถามกับคนอื่นมากมาย คำถามที่ว่า “เขาคือใคร” เป็นคำถามที่มักเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในการศึกษาสมัยใหม่
กระนั้นก็ดี มีคำถามอีกคำถามหนึ่งที่สำคัญกว่าและมักจะถูกลืมอยู่เสมอ นั่นคือ “เราคือใคร” จะมีคนสักกี่คนที่รู้ประวัติความเป็นมาของวงศ์ตระกูลหรือเทือกเถาเหล่ากอของตนเอง จะมีคนสักกี่คนที่เขียนสาแหรก (family tree) ของตระกูลตัวเองได้ถึงรุ่นปู่ทวด ย่าทวด จะมีคนสักกี่คนที่เล่าประวัติความเป็นมาของท้องถิ่นหรือเล่าประเพณีพิธีกรรมในหมู่บ้านที่ตนเองอยู่ได้ การขาด “ความตระหนักรู้” ในการที่จะเรียนรู้และเข้าใจถึงตัวตนและความเป็นมาของตนเอง จึงทำให้วิธีการเรียนรู้โดยการแสวงหาความรู้และเรียนรู้โลกกว้างเกิดภาวะ “บกพร่อง”
เนื้อหาหนังสือเล่มนี้พยายามที่จะตั้งคำถามและให้คำตอบกับชาวตราดว่า “เราคือใคร” โดยเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการรวบรวมบทความของผู้เขียนที่เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับจังหวัดตราดไว้ในหนังสือและวารสารต่างๆ ในวาระโอกาสต่างๆ กัน ผู้เขียนได้จัดแบ่งหมวดหมู่บทความออกเป็น ๓ ภาค ประกอบด้วย ภาค ๑ ภาคประวัติศาสตร์ ภาค ๒ ภาคศิลปวัฒนธรรม และ ภาค ๓ ภาคภาษาและวรรณกรรมพื้นบ้าน บทความเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจพฤติกรรม ความคิด วิธีคิด สังคมและวัฒนธรรมของชาวตราด ด้วยมิติที่หลากหลายและสอดคล้องกับความเป็นจริงทางสังคมได้
ขอขอบคุณอาจารย์สายป่าน ปุริวรรณชนะ เยาวมิตรของผู้เขียนที่กรุณาร้อยกรองคำประพันธ์เพื่อระลึกถึงเจ้าจอมมารดาจันทร์ และช่วยดูแลเรื่องต้นฉบับหนังสือนี้ด้วยความเรียบร้อย
ขอบคุณผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ที่เห็นความสำคัญและสนับสนุนการจัดพิมพ์เผยแพร่ในครั้งนี้
หนังสือเล่มนี้มิได้มีวัตถุประสงค์หลักในการเรียบเรียงขึ้นเพื่อจะให้ความรู้แก่ผู้สนใจแต่ประการใด หากแต่ต้องการและคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีส่วนในการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านมีกำลังใจในการที่จะเขียนเล่าเรื่องราวของตนเองและถ่ายทอดแก่ผู้อื่น เพื่อที่จะได้ไม่เกิดคำถามที่ว่า “เราคือใคร” ในคนรุ่นต่อไปอีก
หากความดีอันจะพึงมีบ้างจากหนังสือนี้ ผู้เขียนขออุทิศเป็นส่วนกุศลบุญบูชาบรรพชนเมืองตราดทุกรุ่นที่สั่งสมวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไว้จนมีเสน่ห์น่าหลงใหลได้มากมายเพียงนี้


เนื้อหาภายในเล่ม ประกอบด้วย

ภาค ๑ ประวัติศาสตร์จังหวัดตราด
ประพาสต้นที่เมืองตราด: ประวัติศาสตร์สมัยพระพุทธเจ้าหลวง
เจ้าจอมมารดาจันทร์: เจ้าจอมพระสนมเอกเชื้อสายเจ้าเมืองตราด
หลวงสลักเพชรพัฒนกิจ: พระญาติในพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์
ท่านก๋งแดงวัดแหลมมะขามกับเกวียนพระราชทานของรัชกาลที่ ๕

ภาค ๒ ศิลปวัฒนธรรมเมืองตราด
กลั่นศรัทธามาเป็นเพลง:
สายธารความสัมพันธ์ระหว่างเพลงบอกบุญกับสังคมชาวตราด
ขนมโบราณในเมืองตราด: ความรู้ที่โลก“ลืมจำ”แต่ไม่เคย“ลืมกิน”
ภาค ๓ ภาษาและวรรณกรรมพื้นบ้านจังหวัดตราด
ลักษณะภาษาถิ่นภาคตะวันออก
ภาษาถิ่นจังหวัดตราด: มรดกที่บรรพบุรุษมอบไว้ให้ด้วยความรัก
เสียงวรรณยุกต์ในภาษาไทยถิ่นตราด
“ฮิ” พระเอกในภาษาถิ่นจังหวัดตราด
องค์โด้ นารี ทรพี และพิธีไล่เสือที่เกาะช้าง:
ผีบุญฉบับเพลย์บอยที่เมืองตราดและเกาะกงสมัยรัชกาลที่ ๔
“เสมียนทอง”: ยอดกวีผู้หายไปจากความทรงจำของชาวตราด

วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2552

งานตามรอยเสด็จฯ เมืองตราด ๑๓๖ ปี



งานตามรอยเสด็จฯ เมืองตราด 136 ปี ที่เกาะช้าง
“เกาะช้าง... ดวงใจแห่งบุตรอันเป็นที่รัก”

เกาะช้าง จังหวัดตราดในบรรยากาศยามเช้าอันสดใส

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยังยืน (องค์การมหาชน) ร่วมกับ ภาคีการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในเขตพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง จังหวัดตราด ขอเชิญ ประชาชนชาวไทยร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยะมหาราช ในงานตามรอยเสด็จฯ เมืองตราด 136 ปี ที่เกาะช้าง “เกาะช้าง... ดวงใจแห่งบุตรอันเป็นที่รัก” ในวันเสาร์ที่ 5 กันยายน 2552 ณ เกาะช้าง จังหวัดตราด








ภาพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประพาสเกาะกระดาด จังหวัดตราด

ภาพจารึกจปร.ที่2 ที่ระหว่างน้ำตกชั้น 2 กับชั้น 3 ที่รัชกาลที่5 โปรดให้จารึกขึ้นไว้ที่น้ำตกธารมะยม เกาะช้าง




กิจกรรมในงาน ประกอบด้วย
การผจญภัยอย่างสนุกสนานไปกับ กิจกรรม Walk Rally ตามรอยเสด็จประพาสน้ำตกธารมะยม เพื่อคัดเลือกเป็น 50 ผู้ร่วมแข่งขันที่ได้รับเกียรติให้เป็นผู้อัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์จากแหล่งน้ำหน้าพระปรมาภิไธยบนเขาธัชกูด พร้อมรับเกียรติบัตรและรางวัลแห่งความภาคภูมิใจ
ร่วมและชมขบวนแห่น้ำศักดิ์สิทธิ์ตามเส้นทางเสด็จประพาสทางเรืออ่าวสลักคอก โดยเรือมาด เรือโบราณที่สวยงามและหาดูได้ยาก และตามเส้นทางสายประวัติศาสตร์ที่ชาวจังหวัดตราดพร้อมใจกันแต่งชุดไทยสมัยรัชการที่ 5 เข้าร่วมขบวนแห่กว่า 999 ชีวิต
ร่วมในพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ มณฑลพิธีวัดวัชคามคชทวีป วัดที่ทรงพระราชทานประทับรอยพระบาทให้เป็นสถานที่ก่อสร้างอุโบสถ นมัสการพระประธานไม้แก่นอายุกว่า 100 ปี
ชมนิทรรศการ 136 ปี แห่งการเสด็จประพาสเกาะช้างและจังหวัดตราด 12 ครั้ง ภาพประวัติศาสตร์และวัตถุโบราณ
ฟังปาฐกถาพิเศษและการเสวนาเรื่องราวตามรอยเสด็จฯ เมืองตราด โดยผู้ทรงคุณวุฒิทางประวัติศาสตร์ไทย
ล้อมวงกินข้าวชมการแสดงศิลปไทยอันตระการตา และร่วมสนุกสนานกับประเพณีท้องถิ่นทั่วไทย รวม 6 ชุดการแสดง
- การแสดงชุดรำอวยพร
- การแสดงชุดนาตยะอลังการ ดินแดนถิ่นเมืองแมน ตราดรำลึก
- การแสดงชุดโปงลางและความงามของสาวไฮซอง
- การแสดงชุดชวนเพื่อนพ้องเริงระบำ 4 ภาค
- การแสดงชุดนฤนาถ ดุรยพัฒน์ สักการะแดนคชสาร
- การแสดงชุดสนุกสนานม่วนชื่น รำเพลินเกาะช้าง
การจำหน่ายอาหารพื้นบ้านเมืองตราดที่แสนอร่อย สะอาด ประหยัด ของที่ระลึกขึ้นชื่อของจังหวัดตราด กิจกรรมถนนสายตามรอยเสด็จฯ การแสงของเก่าและของดีเมืองตราด การประกวดวาดภาพและถ่ายภาพกิจกรรมภายในงาน
สนใจร่วมจัดกิจรรมภายในงานหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ ศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยวท่าโสม โทรศัพท์ 0-3951-6051


พระราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 (ซ้าย) และพระอุโบสถวัดวัชคามคชทวีป หรือวัดสลักคอก (ซ้าย) ที่เกาะช้าง



ท่าเรือสลักคอก เกาะช้าง ในปัจจุบัน ที่ตรั้งหนึ่งเคยใช้รับเสด็จรัชกาลที่ 5 เมื่อร้อยกว่าปีก่อน




กำหนดการจัดงานตามรอยเสด็จฯ เมืองตราด 136 ปี ที่เกาะช้าง
“เกาะช้าง... ดวงใจแห่งบุตรอันเป็นที่รัก”
วันที่ 5 กันยายน 2552
--------------------------------------
กิจกรรมภาคเช้า
07.00 น. การแข่งขัน Walk Rally สองเท้าตามรอยเสด็จฯ พระพุทธเจ้าหลวง เส้นทางที่ว่าการอำเภอเกาะช้าง –บริเวณพระปริมาภิไธย จปร. องค์ที่ 2 บนน้ำตกธารมะยม
09.00 น. พิธีอัญเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์ทางเรือ จากน้ำตกธารมะยมไปยังวัดวัชคามคชทวีป
11.00 น. การแสดงนิทรรศการ 136 ปี แห่งการเสด็จประพาสเกาะช้าง ณ โรงเรียนวัดสลักคอก การประกวดวาดภาพและถ่ายภาพภายในงาน
กิจกรรมภาคบ่าย
14.00 น. พิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ มลฑลพิธี วัดวัชคามคชทวีป
15.00 น. กิจกรรมถนนสายตามรอยเสด็จฯ วิถีชีวิตชุมชนและของดีเมืองตราด
กิจกรรมภาคค่ำ
16.30 น. ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง และ การเสวนา เรื่อง “เมืองตราดกับพระพุทธเจ้าหลวง” โดยผู้ทรงคุณวุฒิทางประวัติศาสตร์ไทย
17.30 น. ล้อมวงกินข้าว “บ้านเรากันเอง” และการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย 4 ภาค


ลำธารของน้ำตกธารมะยม บริเวณจปร ที่ 2

วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ยอดกวีผู้หายไปจากความทรงจำของชาวตราด

“เสมียนทอง เจริญสุข”:
ยอดกวีผู้หายไปจากความทรงจำของชาวตราด

อภิลักษณ์ เกษมผลกูล
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เสมียนทอง เป็นชื่อฉบับนี้ผู้เขียนจะขออนุญาตกล่าวถึงวรรณกรรมมุขปาฐะ (ถ่ายทอดจากปากต่อปาก) ของจังหวัดตราด เพื่อให้ชาวตราดได้ตระหนักถึงคุณค่าแห่งมรดกทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษชาวตราด สำหรับวรรณกรรมที่เลือกมาในครั้งนี้คือ แหล่เรื่องตาผล และแหล่ตาเอ้งหลงป่า
แหล่ตาผล นี้เป็นแหล่ที่มีความนิยมมากในแถบตำบลท่ากุ่ม อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด ซึ่งผู้เขียนได้รับการแนะนำจากท่านพระอาจารย์นิคม เจ้าอาวาสวัดทุ่งไก่ดัก และคุณยายออน สุขขัง ว่าแหล่เรื่องตาผลนี้ มีความน่าสนใจ คือเป็นแหล่ที่มีคติสอนใจ ผู้เขียนจึงได้ไปสืบเสาะหาตัวผู้ที่ยังพอแหล่ได้ คือ คุณลุงยม ไม่ทราบนามสกุล อายุ ๕๐ ปี ต.ท่ากุ่ม อ.เมือง จ. ตราด
คุณลุงได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่าเมื่อครั้งที่คุณลุงบวชอยู่ที่วัดท่ากุ่ม (ประมาณ ๓๐ ปีที่แล้ว) ได้มีโอกาสช่วยที่วัดยกองค์พระพุทธรูปที่วัด ปรากฏว่าที่ใต้ฐานนั้นมีกระดาษซึ่งเป็นเนื้อร้องแหล่ตาผล จึงได้จดจำและนำมาเทศน์เรื่อยมา คุณลุงกล่าวว่า แหล่ตาผลนี้เข้าใจว่า เสมียนทอง ชาวท่าพริก เป็นผู้แต่งขึ้น (เสมียนทองผู้นี้เป็นกวีพื้นบ้านที่มีชื่อ ถึงขนาดแต่งเนื้อลำตัดพิมพ์ขายมาแล้วแต่ต้นฉบับหาไม่ได้แล้ว มีอายุอยู่ราวประมาณ พ.ศ. ๒๔๕๐ - ๒๕๐๐) และแต่งขึ้นจากเรื่องจริงว่า ตาผลนี้เป็นนายพรานชาวทุ่งไก่ดักที่ตายแล้วฟื้น ขณะที่หมดสติได้ไปเผชิญเรื่องราวในยมโลก เมื่อฟื้นขึ้นมาได้เล่าให้ยายเทศ ผู้ภรรยาฟัง ผู้ที่อายุราว ๘๐ ปีขึ้นไปและอยู่แถวๆ บริเวณทุ่งไก่ดัก ท่าพริก ท่ากุ่ม ก็อาจจะพอได้ยินเรื่องนี้บ้าง เพราะเรื่องนี้เกิดขึ้นประมาณ ๗๐ - ๘๐ ปีมาแล้ว ผู้เขียนเห็นว่าแหล่เรื่องนี้น่าจะคงพอเตือนสติผู้ที่ประมาทในการบุญได้ จึงได้นำลงพิมพ์ มีเนื้อความดังนี้

แหล่ตาผลตายแล้วฟื้น

๏ รูปจะเริ่มนิพนธ์ ถึงแหล่ตาผลที่ใกล้จะดับสังขาร แกเจ็บไข้ได้โรคา ที่หายมาก็นานปี แกตายสลบไปพักใหญ่ เกือบเข้าข่ายอสัญญี ระเริงระไรว่าไปเมืองผี แล้วกลับคืนดีแล้วฟื้นคืนมา จึงเล่าความตามที่ไป บอกกับภรรยาว่าข้าได้ไปในภายชาติหน้า พบมัจจุราชยมบาล กับได้พบสระศรีนั้นมีสี่เหลี่ยม ล้วนแต่เต็มเปี่ยมไปด้วยชลธาร กอปรด้วยจงกลยุบลบาน กว้างยาวประมาณมหึมา ที่ริมสระศรีนั้นมีศาลา และดูตระการตางามวิไล แกได้ไปยลเห็นคนนั่งอยู่ แต่ไม่รู้ว่าเป็นผู้ใด กิริยาท่าทางรูปร่างโตใหญ่ สวมเสื้อหมวกใส่ดูเอาการ พูดจาเสียงดังกำลังนั่งเก้าอี้ มือถือบัญชีอย่างโรงศาล ไขว่เกก[1]สูบยากิริยาห้าวหาญ ชั้นเชิญเชี่ยวชาญน่ากลัวพอดู พอเห็นตาผลคนที่สลบไป เดินมาแต่ไกลก็จ้องท่าขู่ เหลือบไปทางหลังเห็นแต่กวางแต่หมู เดินมาเป็นหมู่ฟ้องร้องยมบาล บอกว่าเมื่อก่อน เมื่อตอนยังดี ตาผลคนนี้ใจคอห้าวหาญ ยิงเนื้อไปขายฝักใฝ่เป็นพราน เมื่อยามวายปราณก็พากันรุม ลางบ้างสมสู่อยู่ด้วยกันดีดี แกก็คอยราวีเอาปืนมายิง ที่ป่าทุ่งไก่ดัก จนพึ่งพักอยู่ไม่ได้ เพราะมีพรานไพรเป็นผีสิง ไม่ว่ากลางวันกลางคืน เจอะกันเป็นยิง เขาอ้างอิงเช่นนี้มา มาพบแก้วในศาลา ไม่ถือเอาแก้วมา มันอาฆาตแค้นเพียงใด
๏ ฝ่ายยมบาลท่านก็ถามไปว่า แกเคยทำอะไรไว้บ้างในหนทางที่ดี รำลึกให้ดีแกเคยทำไว้มีหรือไม่ ว่าแสนสงสารตาผลให้อั้นอ้นจนใจ รำลึกสักพักค่อยจึงประจักษ์สติ กรรมปิดบุญเปิดให้สว่าง รำลึกขึ้นได้ว่าอาตมาเคยสร้างพระไตรปิฎก ครั้งขรัวด่อน กับได้ออกส่วนสร้างไว้สี่สิบบาท กับได้บวชพระสงฆ์อีกสององค์ศรัทธา ด้วยเจตนาอันดีแสน ขอให้ผลดีล้ำตั้งสร้างในทางวิมานเมืองแมน ฝ่ายยมบาลท่านก็บัญชีตรวจดู ก็มีเหมือนนายผลว่า แล้วเลยภิญโญอนุโมทนา ว่าบุญของแกยังมีพอกลับไปบ้านก่อนเถิด กลับไปเกิดอีกได้ แต่บาปกรรมทั้งหลายให้ข้าขอ แล้วร้องตวาดกับสัตว์ทั้งหลาย มีกวางทรายหมูเม่นหมี เอ็งกลับไปก่อน ผลท่านทำเอาไว้มี สัตว์ทั้งหลายต่างก็บ่ายหน้ากลับ สูญวุบหายวับไปทันที ฝ่ายยมบาลท่านก็สั่งไปว่า ให้กินหยูกกินยา แล้วหายวันหายคืน แล้วตัดไม้มาปักที่หน้าบ้าน ให้สูงระหงเหมือนเสากังหัน เอาผ้าแดงผูกปลายไว้เป็นสำคัญ กลางคืนนั้นให้จุดโคม เอ้อทำอย่างนี้นะโยม เหมือนข้าได้สั่งไป
๏ ฝ่ายตาผลรับคำก็อำลา แล้วพลิกฟื้นตื่นนอนขึ้นมา จึงเล่าความฝันให้เมียฟัง ฝ่ายเมียได้ฟังกิจนิมิตสลบ สองมือยกจบขึ้นน้อมพนัง[2] ว่าเป็นกุศลเพราะผลร้อยชั่ง คิดว่าถึงชีวังแล้วยังไม่วายชีวา พอรุ่งขึ้นเช้าตรู่ แม่โฉมตรูยายเทศ นางจึงแจ้งเหตุกับญาติทั้งหลาย มาสันทนากิริยาฟื้นคืนดี แล้วชวนญาติญาติไปตัดไม้มาปักเป็นเสาธง ให้สูงระหงเหมือนเสากังหัน เอาผ้าแดงผูกปลายเป็นสำคัญ กลางคืนนั้นก็จุดโคม ออนี่แหละพรานทั้งหลาย สละดันให้ได้ทั้งหน้าไม้และหน้าปืน ใครขืนหยิบยืม โอบอ้อมมาด้อมยิง เมื่อหลับตาตายวายสังขาร มันจะบันดาลเข้าสู่สิง ถ้าใครขืนทำคงเป็นกรรมจริงจริง อย่างตาผลนี่แล ฯ


ผลงานของเสมียนทองอีกเรื่องหนึ่งคือ แหล่ตาเอ้งหลงป่า เป็นแหล่สนุกๆ ที่มักจะใช้แหล่กันตามงานบุญต่างๆ ของชาวบ้านแถบตำบลท่าพริก เมื่อครั้งอดีต ซึ่งคุณตาสิม เกษโกวิท จดจำและบันทึกไว้ และมอบให้ผู้เขียนรักษาก่อนที่จะถึงแก่กรรม มีเนื้อหาดังนี้
คุณตาสิม เกษโกวิท (ถึงแก่กรรม)
กวีพื้นบ้านเมืองตราดผู้ถ่ายทอดเรื่องราวของเสมียนทอง

แหล่ตาเอ้งหลงป่า

๏ ลูกจะเริ่มเรื่องเป็นเบื้องบท ลูกจะจำจดเอาเข้ามาว่า ยังมีบุรุษผู้หนึ่งหนาชำนาญป่า หวังใจจะไปหารังภุมริน แล้วจึงบอกกับบุตรและภรรยา ว่ายังเจอรงกุมภาอยู่ที่ในไพรสิน ถ้าใครแพลงพลัดมันจะกัดจะกิน ข้าจะเอาเสียให้สิ้นชีวาวาย ว่าแล้วมิทันช้า รีบจัดแจงกายารีบผันผาย ครุครบจัดหาใส่บ่าสะพาย แล้วก็ลงบันได...รีบจรลี แต่พอมาถึงยังไพรสน เธอเที่ยวดั้นดันในไพรศรี เที่ยวเสาะหาผึ้งอยู่อึงมี่ สันโดษอยู่ในที่พนาดอน มาประสบพบรังผึ้ง เสียงอื้ออึงกำลังจะอบเกสร จุดคบติดไฟหมายจะราญรอน เธอมิได้ย่อหย่อนในอุรา ด้วยตั้งจิตคิดปราโมทย์หวังประโยชน์ เอาเป็นพักษา แต่พอสมจิตที่เจตนาก็ลงพรึกษาดังใจปอง ว่าเออหนอเราวันนี้ไม่เสียทีคงมีช่อง แล้วก็รีบครรไลสมใจปอง เที่ยวสอดส่องไม่นอนใจ เที่ยวย่องรอดสอดหาพระสุริยาก็เบี่ยงบ่าย เธอให้หิวหวยระทวยกาย อาหารมิได้ลำ........คอ แล้วแข็งจิตคิดมานะ เที่ยวด้นลงเธอมิได้ย่อท้อ พอถกระหานริมธารท่อ ก็เลย..............................ซึ่งเภตรา ที่นั่นเล่าเขาเรียกว่าอ่าวหินดาด แต่ก่อนมิได้ขาดซึ้งลำเภตรา บังเอิญจำเพาะไม่มีใครจะไปมา ครั้นจะหยุดอยู่ท่าก็ป่วยการ เลยตั้งจิตคิดกลับหลัง มุ่งจิตมายังถิ่นสถาน ได้กินน้ำผึ้งต่างโภชนาการ ก็รีบรนรานจรลี บังเอิญมาพบอ้ายรูปดำ อ้ายเซอะเจ้ากรรมมึงมาอยู่นี่ จึงตัดขอพลันถ้อยทันที มิได้เห็นแก่ที่จะค่ำเย็น ได้ปูสี่ตัวมัด.........กัน แหงนดูพระสุริยันก็แลไม่เห็น เธอรู้สึกตัวกลัวจะเย็น แต่พอดีไม่เห็นซึ่งอัมพร ให้มืดมนอลหม่าน เธอเที่ยวด้นดั้นมิได้หยุดหย่อน ไม่เห็นอะไรในดงดอน ผ้าผ่อนเป............ร่อนไม่เหลือเลย โอ้อกเอ๋ยเดือนแปดมันมัวระสุมประชุมน้ำฟ้า มันให้หนาวอุราจริงอกเอ๋ย ไม่มีที่พักกายที่ไหนเลย โอ้อกเอ๋ยช่างยับระยำ ด้นพลางทางบ่นอู้ ว่าอ้ายปูเจ้ากรรม กูหลงใหลมึงจึงได้มืดค่ำ ลูกเมียเขาคงร่ำรำพันคอย จง.........เท่าไหร่ก็ไม่ออกทุ่ง ทั้งริ้นทั้งยุงมิใช่น้อย เที่ยวหลงทางมาห่างลอย คิดๆ แล้วก็น้อยในอุรา จำจะหยุดอยู่ที่กอปง อ้ายปูมึงอย่าพวงเที่ยวหนีหนา เพราะมึงกูจึงต้องค้างอยู่กลางป่า เธอนั่งบ่นว่าอยู่พึมพำ แต่พอเผลอกายปูไหลโกก ตกใจชะโงกเอามือคลำ ชะมึงหลอนกูอ้ายปูระยำ นั่งพูดพึมพำไม่หลับเลย
๏ จะกล่าวถึงบุตรและภรรยา ที่อยู่เคหามิได้เสบย ประมาณสองทุ่มกว่าไม่เห็นมาเลย ก็ไม่เสบยในอุรา ยังมีบุรุษคนหนึ่งชายเธอเที่ยวจุดใต้ตามหา ตะโกนกู่เพรียกเรียกบิดาอยู่ตามชาวป่าดงดอน ฝนหรือก็จะตกอยู่แน่วๆ เป็นกรรมของเราแล้วสะท้อนถอน ไม่รู้ว่าย้อนยอกเที่ยวซอกซอน หรือชีวิตม้วยมรณ์อยู่แห่งใด เที่ยวร้องเรียกไปตาม............... ด้วยเป็นการมืดค่ำไม่ผ่องใส ไม่พบบิดาเที่ยวหาไป พอสิ้นสงสัยแล้วก็กลับพารา แต่พอมาถึงสถานตน แล้วทุกๆ คนก็สนทนา จึงเล่าความที่ตนตามหา ไม่พบบิดาที่ไหนเลย
๏ ฝ่ายพวกบุตรและภรรยา ครั้นได้ฟังลูกว่าไม่นิ่งเฉย ว่ากรรมเอ๋ยกรรม กรรมของเราแล้วหนาเจ้าข้าเอ๋ยกรรม แล้วเหวยตายจริง นั่งพร้อมหน้ากันทั้งแม่ทั้งลูก นั่งกอดเข่าเป็นทุกข์ดังผีสิง ต้องหาหมอจับยามดูความจริง เราจะมัวนั่งนิ่งไม่ได้การ แล้วเร่งรีบไปบ้านหมอ มิได้รั้งรอด้วยความรำคาญ จึงเล่าถึงพัสดาเขาไปป่านาน เขาไปตั้งวันยังไม่เห็นกลับมา หมอช่วยจับยามสามตามิได้นั่งนิ่งดูตามครูสั่ง เอาหลังวิ่งพินิจอยู่เป็นนาน แค่พอทราบสิ้นกระบิลเรื่องเล่าอย่าขุ่นเคืองล่ำโศกสัน ยามบอกว่าไม่ตายยังไม่วายชีวัน เจ้าอย่าโศกสันไปนักเลย พรุ่งนี้เช้าเห็นก็เห็น ถ้าไม่เห็นเจ้าจงตระเวนอย่านิ่งเฉย ได้ฟังหมอว่าเจ้าข้าเอ๋ย แล้วก็..............เลยไปตามควร ว่าตายก็ตายหมอคงบรรยายให้ถี่ถ้วน หมออย่าสำนวนเป็นอำพราง หมอก็บอกจนหมดกระบิลว่าชีวิตยังไม่สิ้นทำลายร่าง เที่ยวเดินเวียนวงทองทาง ข้ามิได้อำพรางเป็นความจริง ได้ฟังหมอว่าไม่ช้านาน ก็รีบกลับบานดังผีสิง ฝ่ายบุตรทั้งหลายแลชายหญิง เห็นมารดามาก็วิ่งไปถามพลัน ว่าหมอเขาทายอย่างไรบ้าง จงเล่าให้ฟังเถอะ....ฉัน ครั้นได้ฟังลูกถามเธอก็ตอบความพลัน ฝ่ายบุตรทั้งนั้นก็ทราบเรื่องราว แล้วพากันร้องไห้ฝ่ายน้ำตา บ้างรำพันว่ากันอื้อฉาว ตั้งแต่นี้ไปจะตีสีให้ดิฉัน บ้างร้องไห้โฮโอ้โอ๋นับวัน เมื่อไรจะพบท่านพระบิดา นั่งร้องไห้กันเป็นหมู่ๆ บ้างไม่รู้ว่าม้วยมรณ์ ไปตกต้นไม้หรือหักกายกร หรือชีวิตม้วยมรณ์อยู่แห่งใด หรือว่าไปแย่งรังภุมริน มันกัดชีวิตเสียสิ้นลงตักษัย ว่ากรรมเอ๋ยกรรมจะทำอย่างไร ต่างคนร้องไห้ทรงโศกา
๏ ยังมีบุรุษคนหนึ่งหนา มาร้องห้ามว่าจะร้องไห้ไปทำไมนะจ๋า จงหัดจิตเสียบ้างฟังข้าว่า คิดอ่านตามหาเห็นจะดี ให้ฟังบุรุษที่สองร้องห้าม ด้วยความระกำที่หมองศรี เมื่อไรจะรุ่งแจ้งแสงคีรี เทวเฝ้าโสภีกันมิได้หลับนอน แต่พอรุ่งแสงพระสุริยา เธอรีบหุงข้าวปลามิได้หยุดหย่อน หวังจรตามหาพระบิดร ให้เร่าร้อนในอุรา ไปวักวานพี่น้องทั้งลูกหลาน และผู้ใหญ่บ้านก็มากมาย ปรึกษากันอึงคะนึงไป บ้างคิดวุ่นวายกันอลหม่าน บ้างก็ว่าเอาหมาไปและดี เพราะอยู่ในที่ไพรสันต์ บ้างห้ามว่าอย่าๆ ไม่เป็นการ เดี๋ยวกัดเตี่ยวายปรนเธออย่าเอาไป พอรุ่งแจ้งพระสุรัสวดี ไม่ช้าทีเธอก็รีบผันผาย บ้างทุ่งข้าวล่ำน้ำตาลทราย ห่อได้สะพายไม่รอรา ไปพบบุรุษคนหนึ่งใช้ควายอยู่ มีผู้เขาไปถามหา ให้ช่วยโต้หลงคนหลงป่า ช่วยทายดูว่าจะเป็นหรือตาย บุรุษได้ฟังคำเขามากล่าวหา ก็หยุดปรึกษาช่วยแก้ไข ไม่เลอะเทอะเลอะกันในทันใด แล้วก็สอบไล่ไปตามควร ได้ฟังเขาว่าเป็นแม่นยำ ทุกถ้อยคำไม่เรรวน ต่างรีบไคลคลาเวลาก็จวน ต่างคนก็ค่อนรีบไคลคลา แต่พอมาถึง.........พลัน ต่างก็พบท่านพระบิดา แสนปรีเปรมเกษมอุรา เจอกันแล้วก็มาสถานตน แต่พอมายังถึงยังบ้านพลัน ที่กำลังโศกศัลย์กันอลวน ชาวประชาที่ได้มายล กำลังโศกสนต่างก็ฮาทันใด ฯ (นั้นแหล่)

เสมียนทอง นอกจากเป็นกวีคนสำคัญแล้ว ยังถือเป็น “นักคิด” คนสำคัญของเมืองตราดอีกด้วย ผลงานของท่านไม่เพียงแต่จะมีความงามทางวรรณศิลป์แล้ว ยังแฝงไปด้วยความคิดและปรัชญาศาสนา ดังปรากฏในนิราศเรื่องต่างๆ ของเสมียนทอง หรือ การบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ดังปรากฏในงานเขียนที่ชื่อว่า “ลำตัดเรื่องเสือผ่อน” เป็นต้น การนำเสนอในครั้งนี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของผลงานของท่าน ซึ่งผลงานส่วนที่เหลือผู้เขียนจะได้ทยอยนำมาลงพิมพ์ในโอกาสต่อไป เพื่อประโยชน์ในทางวิชาการ
แม้ว่าปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับวรรณคดีท้องถิ่นจะไม่แน่นแฟ้นดังเดิม แต่การศึกษาวรรณคดีท้องถิ่น็ก็ยังคงมีความสำคัญ เพราะการศึกษาวรรณคดีท้องถิ่นจะช่วยให้เข้าถึงและเข้าใจวัฒนธรรมไทยได้ใกล้ชิดมากขึ้น ได้มองเห็นความแตกต่างและความหลากหลายในสังคมไทยที่อยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุขสืบมา ที่สำคัญยังจะช่วยให้เรา (และคนไทยส่วนใหญ่) ได้ “เห็น” ถึงอัจฉริยภาพของบรรพบุรุษทั้งในเชิงมนุษยศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งอาจนำมาประยุกต์ พัฒนาและใช้ประโยชน์ได้ในปัจจุบันสมัย อันจะนำพาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไปได้ในที่สุด

[1] ไขว่เกก ภาษาถิ่นตราด หมายถึงอาการนั่งอย่างไขว่ห้างแต่ให้ปลายเท้าข้างหนึ่งหาดไว้ที่หัวเข่าอีกข้างหนึ่ง แต่ไม่ปล่อยให้ขาห้อยลงไปอย่างไขว่ห้าง
[2] เข้าใจว่าอาจหมายถึงคำว่า พนม หรือ ประนม

“ฮิ” พระเอกในภาษาถิ่นจังหวัดตราด

อภิลักษณ์ เกษมผลกูล
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


เมื่อพูดถึงภาษาถิ่นภาคตะวันออก โดยเฉพาะที่เมืองตราด คำแรกๆ ที่คนทั่วไปมักจะนึกถึงคือคำว่า “ฮิ” ซึ่งเป็นคำลงท้าย (post - verbal particles) ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวตราดและเป็นที่จดจำของคนทั่วไป เนื่องจากเสียง “ฮิ” ออกเสียงคล้ายกับคำหยาบในภาษาไทยมาตรฐานที่เกี่ยวกับเรื่องเพศคำหนึ่งซึ่งเสียงยาวกว่า จึงกลายเป็นเรื่องน่าขบขันของคนต่างถิ่นไป
หลายครั้งที่เรามักเห็นนักแสดง คณะตลกต่างๆ รวมถึงคนต่างถิ่นที่มักล้อเลียนคำศัพท์ในภาษาถิ่นภาคตะวันออก โดยใช้คำว่า “ฮิ” ลงท้ายประโยค เช่น ไปกับเราไหมฮิ ไปซิฮิ กินข้าวกันไหมฮิ เดินไปด้วยกันฮิ เป็นต้น ซึ่งการใช้คำ “ฮิ” ในประโยคข้างต้นมีทั้งผิดและถูกในสถานการณ์การใช้จริงของคนท้องถิ่น ทั้งนี้เพราะคำ “ฮิ” มีหน้าที่และบริบทการใช้ “เฉพาะ” ไม่ใช้กันพร่ำเพรื่อทั่วไป
อย่างไรก็ดี นักวิชาการหลายท่านต่างก็ให้ความหมายของคำ “ฮิ” ไว้บางส่วนเช่น มยุรี อภิวาท ให้ความหมายว่า “เป็นคำสร้อยที่ต่อท้ายประโยคคำพูด มีความหมายตรงกับคำว่า ซิ หรือ นะ เช่น ประโยคว่า ไปไหนมานะ ก็จะพูดว่า ไปไหนมาฮิ พูดใหม่ซิ ก็จะพูดว่า พูดใหม่ฮิ ส่วนคำว่า ฮิ่ เป็นสร้อยคำตามท้ายประโยคคำพูด เช่นเดียวกับคำว่า ฮิ แต่จะใช้ในความหมายที่แตกต่างไปบ้าง เช่น ประโยคว่า ประเดี๋ยวก่อนซิ่ จะพูดว่า ประเดี๋ยวก่อนฮิ่ คอยก่อนซิ่ จะพูดว่า คอยก่อนฮิ่ นั่งลงซิ่ จะพูดว่า นั่งลงฮิ่ ”[1]
อำนาจ เพ่งจิตต์ กล่าวว่า “ภาษาจันท์มีคำลงท้ายประโยคอยู่คำหนึ่ง คือ “เซี้ยะ” ซึ่งนับเป็นเสน่ห์ของภาษาจันท์อย่างยิ่ง มาจากคำ “สิ” หรือ “ซิ” ของภาษากรุงเทพฯ เช่นทำแล้วสิ, ให้แล้วสิ เหมือนจะมาจากให้แล้วสิหนา ทำแล้วสิหนา ทำนองนั้น แต่สำเนียงพูดกันออกมาว่า ทำแล้วซี้ล่ะ พูดเร็วๆ คำ “ซี้ล่ะ”กลายเป็น “เซี้ยะ” บางทีเป็น “เฮี้ยะ” ชาวจันทบุรีรู้จักกันดี จะพลัดพรากกันไปอยู่บ้านไหนเมืองไหน ถ้าพบปะใครออกหางเสียงคำลงท้ายทำนองนี้ ทักทายได้เลยไม่ใช่คนอื่นไกล แต่ปัจจุบัน คำ เฮี้ยะ กำลังจะกร่อนเสียงสั้นลงเป็น ฮิ ตามธรรมชาติของภาษา และความจูงใจของผู้ใช้ภาษาเอง ในวงสนทนาหากเลือกประโยคที่มีความหมายเหมาะๆ แล้วลงท้ายประโยคด้วย “ฮิ” จะเรียกเสียงฮาได้ทันทีเป็นที่ชอบใจของวงสนทนา ซึ่งนี่ก็เป็นเสน่ห์อีกแบบหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นในภาษาจันท์”[2]
นอกจากนี้คนส่วนใหญ่ในภาคตะวันออก ยังตั้งข้อสังเกตถึงความแตกต่างของการออกเสียงคำ “ฮิ” ของชาวภาคตะวันออกไว้เป็นคำคล้องจองว่า “ระยองฮิสั้น จันท์ฮิยาว ตราดฮิใหญ่” อีกด้วย
ความจริงในบริบทการสนทนาของชาวตราด คำ “ฮิ” มีหน้าที่ในการใช้สนทนาแตกต่างกัน ทั้งยังสะท้อนเจตนาของผู้พูดไว้ด้วย ผู้เขียนจึงพยายามจะ “ค้นหา” วิธีการใช้และหน้าที่ของ “ฮิ” ในภาษาถิ่นจังหวัดตราดให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียน (ในฐานะชาวตราด) รวมถึงการเก็บข้อมูลภาษาจากผู้บอกภาษาชาวตราด พบว่า “ฮิ” ในภาษาถิ่นจังหวัดตราดมีความน่าสนใจที่เสียงของคำ “ฮิ” จะเพี้ยนไปตามบริบทหรือสถานการณ์ของการสนทนา แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างสัทลักษณะกับความหมาย[3] โดยแบ่งได้เป็น ๓ ประเภทดังนี้

๑. “ฮิ” ที่แสดงการสิ้นสุดความ (Finality)
จากการศึกษาบริบทของการใช้คำ “ฮิ” ในบทสนทนาของชาวจังหวัดตราดพบว่า การใช้ “ฮิ” ในประเภทนี้แสดงความหมายเชิงเจตคติ อารมณ์ ทีท่า และความรู้สึกนึกคิด ในแง่ของการชี้แจงยืนยันบอกกล่าว การบอกให้ทำ การถามเพื่อขอคำยืนยัน คำลงท้าย “ฮิ” ในประเภทนี้เป็นคำลงท้ายกลุ่มเสียงตก ซึ่งแสดงวัจนกรรม[4] ในรูปประโยคแตกต่างกันดังนี้
๑.๑ รูปประโยคคำสั่ง
เป็นวัจนกรรมตรงในการบอกให้ทำ มักออกเสียง “ฮิ่” ตัวอย่างเช่น นั่งลงฮิ่ อย่าพูดมากนักฮิ่ เดินไปฮิ่ ไปปรึกษาครูใหญ่ดูฮิ่
๑.๒ รูปประโยคคำถาม
เป็นวัจนกรรมอ้อม ในการขอคำยืนยัน คือ สถานการณ์ที่ผู้พูดมีข้อเท็จจริงอยู่ก่อนและมีความเชื่อมั่นแต่ผู้ฟังให้ข้อเท็จจริงที่ไม่ตรงกัน จึงถามเพื่อขอคำยืนยัน ซึ่งมักออกเสียงว่า “ฮี้” ตัวอย่างเช่น
มันจะเป็นไปได้ยังไงฮี้
สวยจริงหรือเปล่าฮี้
มันจะดำยังไงฮี้
๑.๓ รูปประโยคบอกเล่า
เป็นวัจนกรรมตรง ในการบอกให้ทราบ ในสถานการณ์ที่ผู้พูดเชื่อมั่น และยืนยันให้ผู้ฟังเชื่อตาม มักออกเสียง “ฮิ่” ตัวอย่างเช่น
โจรมันก็พูดไปฮิ่ (มันจะไปรักษาสัญญาอะไร)
ทิ่ดก็ลองถามใครดูฮิ่ (ไม่เชื่อถามอีสาวเล่กดูก็ได้)
มันก็ไปกันอีกฮิ่ (ลองมีทีแรกแล้วก็ต้องมีทีที่สอง)
๒. “ฮิ” ที่แสดงการไม่จบความ (Non-finality)
คำ “ฮิ” ประเภทนี้ แสดงความหมายเชิงเจตคติ อารมณ์ และความรู้สึกนึกคิดในแง่การถาม การแสดงความประหลาดใจ การแสดงความรู้สึกไม่เชื่อ ไม่เห็นด้วย การขอความเห็นพ้อง การขอร้องคะยั้นคะยอ การเรียกความสนใจ การแสดงความกังวลใจ การแสดงความเป็นเจ้าของ เป็นต้น ความหมายเหล่านี้พบในคำลงท้ายกลุ่มเสียงสูงระดับ ซึ่งมักแสดง วัจนกรรมต่างๆ ดังนี้
๒.๑ รูปประโยคบอกเล่า
การใช้คำ “ฮิ” ที่ปรากฏในประโยคบอกเล่านี้ ออกเสียงเพี้ยนเป็น “เฮี้ย” (บางคนออกเสียง “เคี้ย” “เกี๊ย” ก็มี)[5] แสดงวัจนกรรมตรงในการแสดงความเป็นเจ้าของ เกิดในสถานการณ์ที่ผู้พูดต้องการแสดงความเป็นเจ้าของ หรือให้เหตุผลบางอย่างแก่ผู้ฟัง เช่น
รถคันนี้ของเค้าเฮี้ย (ไม่ใช่ของแกซะหน่อย)
ก็แมะเป็นคนทำเฮี้ย (จำไม่ได้เหรอ)
มะม่วงมันเน่าเฮี้ย (กินไม่ได้แล้ว)
นอกจากนี้ยังรวมถึงสถานการณ์ที่ผู้พูดมีความรู้สึกประหลาดใจไม่คาดฝันถึงสิ่งที่ตนรู้มา และต้องการโอ้อวดให้ผู้ฟังรับทราบซึ่งคาดว่าผู้ฟังจะต้องประหลาดใจ เช่น
อาทิตย์ที่แล้วพี่ฟิล์ม รัฐภูมิ มาด้วยเฮี้ย
ที่วัดเค้ามีกายกรรมมาแสดงด้วยเฮี้ย
ต้นมะม่วงข้างบ้านออกลูกเป็นสี่เหลี่ยมเฮี้ย
๒.๒ รูปประโยคปฏิเสธ
การใช้คำ “ฮิ” ที่ปรากฏในประโยคปฏิเสธนี้ ออกเสียง “ฮิ” หรือ “ฮิเนี่ย” (บางคนออกเสียง “คิ” หรือ “กิ๊” ก็มี) แสดงวัจนกรรมตรงในการบอกความปฏิเสธ มักเป็นสถานการณ์ที่ผู้พูดแสดงความคิดเห็นส่วนตัวเพื่อชี้แจงเหตุผลในการขอความเห็นใจจากฟัง เช่น
ก็มันไม่ชอบฮิ
เพร่าะว่ามันไม่รู้ฮิ
ไม่เคยลองทำเลยฮิ
๒.๓ รูปประโยคคำถาม
การใช้คำ “ฮิ” ในประโยคคำถามนี้ มักเกิดในสถานการณ์ที่ผู้พูดไม่มีความรู้เรื่องที่ถามมาก่อนเลยและอยากได้ข้อเท็จจริงจากผู้ฟังหรืออาจเคยมีความรู้เรื่องนั้นๆ มาก่อนแต่จำไม่ได้ มักออกเสียงว่า “ฮิ” ตัวอย่างเช่น
หนังเรื่องนี้ใครเป็นพระเอกฮิ
ทางไปบ่อไร่มันดีรึเปล่าฮิ
ไปเที่ยวเกาะช้างคราวนี้ มีใครไปบ้างฮิ
๓. “ฮิ” ที่แสดงการส่อความขัดแย้ง (Contradiction)
คำลงท้ายที่มีความหมายแสดงการส่อความขัดแย้ง (Contradiction) แสดงความหมายเชิงเจตคติ อารมณ์ และความรู้สึกนึกคิดในแง่ของการอธิบายความเพื่อแสดงหรือชี้แจงความรู้สึกขัดแย้ง มักพบในรูปประโยคบอกเล่า ออกเสียงว่า “เฮี้ย” ตัวอย่างเช่น
ก็มันแพงเฮี้ย (ซื้อมาทำไมไม่เข้าท่า)
เป็นยังงั้นก็ดีแล้วเฮี้ย (มันจะได้ไม่มาหาอีก)
มันร้อนเฮี้ย (เห็นใจกันมั่งฮิ่)

สิ่งที่นำเสนอข้างต้นเป็นเพียงข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้คำ “ฮิ” ในภาษาถิ่นจังหวัดตราด ทั้งที่ได้จากการศึกษาในฐานะนักวิชาการและการสังเกตในฐานะผู้บอกภาษาคนหนึ่ง ความจริงนอกจากคำ “ฮิ” ยังมีคำลงท้ายอื่นๆ ในภาษาถิ่นจังหวัดตราดที่น่าสนใจอีกหลายคำ เช่น คำ “เฉ้ด” กับ “หาย” ซึ่งมักใช้เป็นกริยาวิเศษณ์ขยายคำ “หมด” เช่น หมดเฉ้ด หมดหาย แต่ ๒ คำนี้ใช้ในความหมายไม่เหมือนกัน เพราะคำแรก “หมดเฉ้ด” ให้ภาพว่าหมดเกลี้ยงจนไม่เหลืออะไรเลย ส่วน “หมดหาย” ให้ความรู้สึกเสียดายของผู้พูดต่อสิ่งที่หมดไป เป็นต้น
กระนั้นก็ดี การศึกษาข้อมูลในเบื้องต้นครั้งนี้อาจช่วยกระตุ้นให้ “คนใน” เกิดการสังเกตความละเอียดอ่อนของภาษาถิ่นที่ตนใช้ให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็เพื่อให้ “คนนอก” ได้เข้าใจคำลงท้าย “ฮิ” ของชาวตราดได้ดีมากยิ่งขึ้น เพราะ “ภาษาถิ่นจังหวัดตราดก็สำคัญฮิ”


บรรณานุกรม

มยุรี อภิวาท. ภาษาตราดวันละคำ. ตราด: โรงเรียนสตรีประเสริฐศิลป์, มปป.
(เอกสารอัดสำเนา)
สมจิตต์ รัตนีลักษณ์. “การศึกษาสัทอรรถศาสตร์ของคำลงท้ายในภาษาระยอง”
วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิต สาขาภาษาศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๒.
อำนาจ เพ่งจิตต์. “ภาษาจันท์” ที่ระลึกในพิธีเปิดหอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก
จันทบุรี. กรุงเทพฯ: บริษัทอัมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ จำกัด, ๒๕๓๓. หน้า ๑๔๙.

[1] มยุรี อภิวาท. ภาษาตราดวันละคำ. ตราด: โรงเรียนสตรีประเสริฐศิลป์, มปป. (เอกสารอัดสำเนา) หน้า ๘๐.
[2] อำนาจ เพ่งจิตต์. “ภาษาจันท์” ที่ระลึกในพิธีเปิดหอสมุดแห่งชาติรัชมังคลา-ภิเษกจันทบุรี. กรุงเทพฯ: บริษัทอัมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ จำกัด,๒๕๓๓. หน้า ๑๔๙.
[3]ปรับปรุงและดัดแปลงบางส่วนจาก ภาคผนวก ค ใน สมจิตต์ รัตนีลักษณ์. “การศึกษาสัทอรรถศาสตร์ของคำลงท้ายในภาษาระยอง” วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาภาษาศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๒.
[4] วัจนกรรม (Speech act) หมายถึง การแสดงออกทางวาจาเพื่อบ่งบอกความตั้งใจ (intention) หรือ เจตนาของผู้พูดไปสู่ผู้ฟัง และถ้าผู้พูดและผู้ฟังเข้าใจไม่ตรงกัน การสื่อสารนั้นก็ไม่ได้ผล ซึ่งในการพูดแต่ละครั้ง ถ้อยความที่กล่าวออกมามีองค์ประกอบ ๓ ส่วนด้วยกัน (เพียรศิริ วงศ์วิภานนท์,๒๕๒๖) คือ
๑. ถ้อยคำ (Utterance)
๒. วัจนกรรม (Illocutionary act)
๓. วัจนผล (Perlocutionary act)
[5] ในภาษาถิ่นจังหวัดจันทบุรี และภาษาถิ่นจังหวัดระยองใช้ว่า “เซี้ยะ” “ซี้ล่ะ” ก็มี

ขนมโบราณในเมืองตราด

ขนมโบราณในเมืองตราด: ความรู้ที่โลก “ลืมจำ” แต่ไม่เคย “ลืมกิน”

หากใครมีโอกาสได้สัมผัสบรรยากาศของตลาดเช้าในเมืองตราด สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาดคือ การแวะชิมขนมโบราณต่างๆ ซึ่งเป็นขนมพื้นบ้านพื้นเมืองตราด ขนมหลายอย่างเคยเป็นขนมที่คนไทยสมัยก่อนรู้จักกันดี แม้ปัจจุบันจะหาทานได้ยากในเมืองกรุง แต่กลับหาทานได้ง่ายๆ ในตลาดเช้าเมืองตราด เช่น ลอดช่องไทย ไข่เต่าชาววัง ปลากริม ข้าวเหนียวกวน ข้าวเหนียวแก้ว ข้าวหมาก ข้าวเกรียบว่าว ขนมตะไล ขนมจ้าง
ขนมโบราณเหล่านี้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่บรรพบุรุษชาวตราดได้มอบไว้ให้แก่ลูกหลานเอาไว้อวดฝีมือแก่แขกบ้านแขกเมือง ซึ่งตำรับการทำขนมนี้มีการถ่ายทอดกันมาอย่างยาวนานไม่น้อยกว่าร้อยปี จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง มีการพัฒนาสูตร ดัดแปลง และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เกี่ยวกับการทำขนมโบราณในหมู่ของ “ประติมากรขนม” มาอย่างต่อเนื่อง จนได้เป็นรสชาติและหน้าตาที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ขนมต่างๆ เหล่านี้มีเรื่องราวที่น่าสนใจดังจะคัดสรรมานำเสนอดังนี้

บันดุ๊ก: ขนมไร้หัวนอนปลายเท้า?

ในบรรดาขนมโบราณที่วางขายอยู่ในท้องตลาดเมืองตราดนั้น ขนมอย่างแรกที่ผู้เขียนอยากจะอวดคือ “ขนมบันดุ๊ก” ขนมนี้ทราบมาว่าคนเมืองกรุงเรียกว่า “ขนมเปียกปูนขาว” เพราะรูปลักษณ์คล้ายขนมเปียกปูนแต่เป็นสีขาว แต่กระนั้นก็ไม่ใคร่เคยเห็นทำขายในกรุง และด้วยความที่ชื่อของขนมนี้ออกจะประหลาดจึงสันนิษฐานเบื้องต้นกันว่าน่าจะเป็น “ขนมต่างด้าว” ที่เข้ามาลี้ภัยในเมืองตราดและภายหลังได้กลืนสัญชาติเป็น “ขนมเมืองตราด” ไปในที่สุด

ขนมบันดุ๊กตำรับเมืองตราด

นักวิชาการท้องถิ่นเมืองตราดสันนิษฐานถึงชาติกำเนิดของ “ขนมบันดุ๊ก” เป็นสองทาง ข้างหนึ่งว่ามาจากเมืองเขมร อีกข้างหนึ่งว่ามาจากเมืองญวน ซึ่งหากพิจารณาจากบริบททางประวัติศาสตร์ของเมืองตราดจะพบว่าพลเมืองของประเทศทั้งสองต่างก็เคยถูกกวาดต้อนเข้ามาอยู่ในเมืองตราดทั้งคู่ ความเป็นไปได้จึงมีพอๆ กัน
เมื่อครั้งที่คุณยายสลิด เกษโกวิท “ประติมากรขนม” คนสำคัญของเมืองตราด ยังมีชีวิตอยู่ได้เล่าไว้แต่เพียงว่า “คงเป็นขนมของพวกญวน” และเมื่อผู้เขียนได้ลองสอบกับหนังสือต่างๆ อาทิ กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กาพย์เห่ชมเครื่องหวาน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตำราแม่ครัวหัวป่าก์ (พ.ศ. ๒๔๕๑-๒๔๕๒) ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ รวมถึงตำราขนมไทยต่างๆ ก็ไม่พบ กระทั่งเมื่อได้พบหนังสือ งานแสดงนิทรรศการสินค้าพื้นเมืองไทยในพระราชพิธีสมโภชพระนครครบร้อยปี พ.ศ. ๒๔๒๕ ในตอนหนึ่งกล่าวถึงบัญชีรายชื่อขนมต่างๆ ของไทย และในจำนวนนั้นได้กล่าวถึงหมวด “ว่าด้วยขนมต่างๆ ของอานำ ทำด้วยแป้ง ด้วยถั่วงาต่างๆ เจือน้ำตาลต่างๆ” ว่าประกอบไปด้วยขนมบั้นเหง่ ขนมบั้นเชบ ขนมบั้นหลวกเหงื่อ ขนมบั้นเกิบ ขนม ๒ ชนิดหลังนี้มีคำอธิบายว่า “๒ สิ่งนี้ พวกอานำทำเครื่องแจ๋ถวายพระญวนเมื่อเวลาสวดกงเต๊ก ถ้าจะซื้อขายราคาอันละ ๑ อัฐ” [1]
จากชื่อขนมญวนที่อ้างในบัญชีข้างต้นจะเห็นว่าชื่อขนมญวนเหล่านี้มักจะขึ้นต้นว่า “บั้น” ซึ่งคำนี้ในภาษาญวน (เวียดนาม) แปลว่า “ขนม” และเมื่อตรวจสอบข้อมูลจากเวียดนามแล้วก็พบชื่อขนมนี้จริงๆ และเรียกชื่อตรงกันว่า “บันดุ๊ก” (bánh đúc)

ภาพขนมบันดุ๊ก (bánh đúc) ตำรับญวน
ที่ร้านอาหารเมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม

จากภาพข้างต้นจะเห็นว่ามีความคล้ายคลึงกัน แต่ก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ที่ตรงกันคือเป็นแป้งกวนและรับประทานกับน้ำเชื่อม แต่เมื่อพิจารณาจากเนื้อขนมและน้ำเชื่อมแล้วก็มีความแตกต่างกันในรายละเอียด นอกจากนี้ยังได้รับคำบอกเล่าจาก อ. เขมฤทัย บุญวรรณ แห่งคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลว่าที่ อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม บางแห่งก็มีการทำขนมบันดุ๊กนี้เช่นกัน คือบริเวณชุมชนวัดแค (กัมปูเจีย) เล่ากันว่าชุมชนแห่งนี้ในสมัยบรรพบุรุษเป็นชาวเขมรที่ถูกกวาดต้อนมาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งในขณะนั้นเขมรและญวนมีความใกล้ชิดกันมาก จึงสันนิษฐานว่าขนมบันดุ๊กนี้กลุ่มชนเขมรอาจได้รับอิทธิพลมาจากพวกญวน และภายหลังเมื่อถูกกวาดต้อนมาก็ยังคงทำรับประทานในครัวเรือนและถ่ายทอดความรู้นี้มาสู่ทายาทในปัจจุบัน (ดูวิธีทำขนมนี้ได้ที่ http://www.trat.go.th/food/dessert2.htm)


ขนมบันดุ๊กของชาววัดแค (กัมปูเจีย) นครชัยศรี จ. นครปฐม

ความจริง นอกจาก “บันดุ๊ก” แล้ว ยังมีขนมญวนอีกอย่างหนึ่งที่เข้ามาแฝงตัวอยู่ในเมืองตราด จนชาวตราดคิดว่าเป็นขนมไทยไปแล้วนั่นคือ “ขนมมัดไต้” หรือ “ข้าวต้มมัดไต้”
ส. พลายน้อย เล่าไว้ในหนังสือขนมแม่เอ๊ย ว่า สมัยเป็นหนุ่มเคยคุมเรือทรายไปแถวลานเท แถวนั้นเคยมีพวกญวนทำข้าวต้มมัดไต้มาขายพวกเรือพ่วง ที่เรียกว่าข้ามต้มมัดไต้นั้น ก็เพราะข้าวต้มมัดแบบนี้มีขนาดยาวต้องใช้ตอกมัดหลายเปลาะแบบเดียวกับมัดไต้ที่ใช้จุดไฟ ผิดกับข้าวต้มมัดผัดธรรมดาที่ทำตอนตักบาตร เทโว ที่มัดเพียงสองเปลาะเท่านั้น ส.พลายน้อย ได้ให้ความเห็นว่าข้าวต้มมัดไต้นี้เดิมเป็นของญวน เห็นจะถ่ายทอดวิชาให้ไทยรู้จักกันมานานแล้ว โดยเฉพาะชาวจันทบุรีมีฝีมือในการทำข้าวต้มมัดไต้ได้รับการยกย่องมาแต่โบราณ
แม่ค้ากับขนมมัดไต้ตำรับญวน (banh tet) ที่เมืองซาปา ประเทศเวียดนาม

ขนมมัดไต้เมืองตราด

ขนมมัดไต้นี้ถือเป็นขนมโบราณของชาวตราดอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใคร่ได้ทำขายกัน มีแต่ทำรับประทานในครัวเรือน หรือทำเพื่อเซ่นไหว้เฉพาะเทศกาลเท่านั้น เพิ่งจะมีการทำขายเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง
การทำขนมมัดไต้มีวิธีทำมากเรื่องกว่าข้าวต้มมัดธรรมดา สิ่งสำคัญที่จะต้องใช้คือข้าวเหนียวที่แช่ไว้ ๑ คืนกับถั่วเขียวปอกเปลือกออก หรือที่เรียกว่า ถั่วทอง และมันหมูเคล้าเกลือกับพริกไทย เมื่อเวลาจะห่อก็ต้องใช้ใบกระพ้อ มาใช้ห่อ เมื่อได้ใบกระพ้อแล้วก็จะตักข้าวเหนียวใส่บนใบกระพ้อเป็นชั้นที่ ๑ จากนั้นตักถั่วทองใส่เป็นชั้นที่ ๒ ใส่มันหมูที่หมักไว้เล็กน้อย แล้วตักถั่วทองใส่เป็นชั้นที่ ๓ ปิดท้ายด้วยข้าวเหนียวเป็นชั้นที่ ๔ จากนั้นใช้ใบกระพ้ออีกใบหนึ่งประกบ และม้วนให้เป็นกระบอกจากนั้นหักใบที่ยาวเกินออกมาปิดหัวข้างหนึ่ง แล้วใช้ไม้กลมๆ หรือ ก้านกล้วยเล็กๆ กระทุ้งให้ข้าวกับถั่วทองเข้าไปอัดแน่นในกระบอกใบกระพ้อ เมื่ออัดจนเต็มแล้วจึงปิดหัวอีกข้างหนึ่ง จากนั้นจึงเอาไปต้ม เป็นอันเสร็จและรับประทานได้

ไข่เต่าชาววัง: ขนมที่คนในวังไม่เคยกิน


ขนมอีกชนิดหนึ่งที่อดพูดถึงไม่ได้คือ “ไข่เต่าชาววัง” และเมื่อพูดถึง “ขนมไข่เต่า” หลายคนก็มักจะนึกถึงชื่อขนมพี่ขนมน้องของขนมไข่เต่าคือ “ขนมปลากริม” มาคู่กันด้วย ซึ่งมีหลายครั้งที่คนกรุงมักจะเหมากันว่าคือขนมชนิดเดียวกันคือ ปลากริม ส่วน ไข่เต่า นั้นเป็นคำสร้อย เพราะเวลาเรียกก็เรียกกันจนติดปากว่า “ขนมปลากริมไข่เต่า”
ความจริง “ขนมปลากริม” และ “ขนมไข่เต่า” เป็นขนมคนละชนิดกัน มีรูปลักษณ์ต่างกัน ขนมปลากริมนั้นมีลักษณะเป็นปลาอย่าง “ปลากริม” ที่เป็นปลาจริงๆ มีทั้งชนิดเค็มและหวาน ในจังหวัดตราดนิยมทำเลี้ยงในงานศพ และมีธรรมเนียมว่าจะใช้ขนมปลากริมเลี้ยงแขกในคืนสุดท้ายของงานศพผู้สูงอายุด้วย
อย่างไรก็ตามเมื่อทราบว่า “ขนมปลากริม” เป็นเอกเทศจาก “ขนมไข่เต่า” แล้ว “ขนมไข่เต่า” เป็นอย่างไร ขนมไข่เต่านี้แต่ละท้องถิ่นทำแตกต่างกัน บางแห่งทอด บางแห่งต้ม ที่เพชรบุรีใช้ทอดมีไส้ถั่วทอง คือเป็นขนมไข่หงส์ นั่นเอง ส่วนที่ตราดใช้ต้มกับน้ำ มีไส้ถั่วทองเหมือนกันแต่เป็นถั่วทองผัดกับหอมเจียว รับประทานในน้ำกะทิ
ในอดีตขนมไข่เต่าของเมืองตราด มีสีเดียวคือสีขาวที่ได้จากแป้งขนม ภายหลังคุณยายสลิดได้ริเริ่มทดลองผสมแป้งกับส่วนประกอบใหม่ๆ เช่น เผือก มัน ฟักทอง น้ำใบเตย น้ำอัญชัน ทำให้ได้บัวลอยสีสันต่างๆ มากมายน่ารับประทานจึงให้ชื่อขนมที่ทดลองทำขึ้นใหม่นี้ว่า “ขนมไข่เต่าชาววัง” เนื่องจากมีกรรมวิธีที่ประณีต และดูน่ารับประทานดุจสำรับของชาววัง ภายหลังได้มีผู้นำไปทดลองทำบ้าง จนเป็นที่แพร่หลายในจังหวัดตราดปัจจุบัน
อนึ่ง น่าสนใจว่าแล้วเหตุไฉน ปลากริมจึงต้องมาคู่กับไข่เต่า นั่นเป็นเพราะสมัยโบราณมีขนมอยู่ชนิดหนึ่งเรียกว่า ขนมแชงมา หรือ ขนมแฉ่งม้า ซึ่งมีปรากฏอยู่ในเพลงกล่อมเด็กบทหนึ่งมีเนื้อร้องว่า “โอละเห่ โอละหึก ลุกขึ้นแต่ดึก ทำขนมแฉ่งม้า ผัวก็ตี เมียก็ด่า ขนมแฉ่งม้า ก็คาหม้อแกง”
ขนมแชงม้า นี้ แท้จริงคือ ขนมปลากริมที่รับประทานกับขนมไข่เต่า เป็นขนมโบราณมากๆ เพราะมีการถกเถียง สอบถามกันมาว่ามีหน้าตา รูปลักษณ์อย่างไร มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕ ดังที่พระองค์เจ้าจรูญโรจน์เรืองศรี พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยบันทึกไว้ว่า

……ขนมแชงม้า รูปพรรณสีสัน กลิ่นรสของขนม เป็นอย่างไรไม่ทราบ เป็นแต่ชื่อลอยมา อย่างนั้น ถึงมีผู้เฒ่าผู้แก่ ก็มิได้ เคยพบเคยเห็น ได้ยินแต่เสียงคนทั้งหลาย กล่อมเด็กว่า โอละเห่ โอละหึก ลุกขึ้นแต่ดึก ทำขนมแชงม้า ฯลฯ แต่บางคนก็ว่า ขนมหม้อแกงนั้นเอง เดิมชื่อ ขนมแชงม้า ครั้นเกิดความ ผัวเมียตีกันขึ้น ขนมไม่ทันสุก คาหม้อแกงอยู่ คนทั้งหลาย จึงได้เรียกว่า ขนมหม้อแกง ตั้งแต่นั้นมา' นี่แหละ ความจะเท็จจริงอย่างไร ก็ไม่ทราบแน่

ความสงสัยในข้อนี้เป็นเหตุให้ท่านผู้หญิง เปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญอาหารหวานคาว เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๕ และเป็นผู้แต่งตำราอาหารชื่อ แม่ครัวหัวป่าก์ ติดตามเรื่องราวความเป็นมาของขนมแชงมา และบันทึกไว้ว่า

... ขนมนี้ เป็นของโบราณ ได้ยินแต่แม่หญิงกล่อมเด็ก ต่อๆ กันมา ดังข้างบนนี้ จะเป็นอย่างใด ทำด้วยอะไร ไต่ถาม ผู้หลักผู้ใหญ่ มามากแล้ว ก็ไม่ได้ความชัดเจนลงได้ คนหนึ่งก็ว่า คือขนมนั้นบ้าง นี้บ้าง แต่ว่าเป็น ขนมไข่เต่า นั่นเอง ที่ว่าเช่นนี้ ถูกกันสามสี่ปากแล้ว เวลาวันหนึ่ง อุบาสิกาเนย วัดอัมรินทร์ ได้ทำขนมมาให้ วางลงถาดมาสองหม้อแกง ได้ถามว่าอะไร อุบาสิกาเนย บอกว่า ขนมแชงมา เป็นขนมโบราณ ทำมาเพื่อจะเลี้ยงคน ที่อยู่ในบ้าน จึงได้ตักออกมาดู หม้อหนึ่งเป็น ขนมไข่เต่า อีกหม้อเป็น ขนมปลากริม จึงได้ ถามออกไปอีกว่า เช่นนี้เขาเรียก ขนมปลากริม ขนมไข่เต่า ไม่ใช่หรือ อุบาสิกาเนย บอกว่า โบราณใช้ผสมกัน ๒ อย่าง จึงเรียกว่า ขนมแชงมา ถ้าอย่างเดียวเรียก ขนมไข่เต่า ขนมปลากริม รับประทานคนละครึ่งกัน จึงให้ตักออกมาดู ก็ตัก ขนมปลากริม ลงชามก่อน แล้วตัก ขนมไข่เต่า ทับลงหน้า เมื่อจะรับประทาน เอาช้อนคน รับประทานด้วยกัน ได้ความเป็นหลักฐาน เพียงเท่านี้ …

ความจริงในหนังสือ งานแสดงนิทรรศการสินค้าพื้นเมืองไทยในพระราชพิธีสมโภชพระนครครบร้อยปี พ.ศ. ๒๔๒๕ ในตอนหนึ่งกล่าวถึงบัญชีรายชื่อขนมต่างๆ ของไทย และในหมวดที่ว่าด้วย “ขนมทำด้วยแป้งถั่วต่างๆ แลฟองเป็ดเจือน้ำตาลโตนด แลน้ำอ้อย” กล่าวถึงขนมชนิดที่ ๒๐๑ ว่า

ขนมแซะม้า เปนขนมของนายสารถี แต่ก่อนต้มให้ม้ากินให้มีกำลัง แต่เดี๋ยวนี้หามีผู้ใดรู้จักไม่ รู้จักแต่ชื่อมาทำเพลงกล่อมบุตรแลหลานทุกบ้านเรือน แต่เพลงชื่อเปนขนมแชงม้าไป ที่จริงขนมแซะม้านั้นท่านไม่ใส่น้ำกะทิ เหมือนกับขนมของจีนที่เรียกว่า จุตบีม้วย แต่เดี๋ยวนี้ยักใส่น้ำกะทิคล้ายกับสาคู ไม่เคยเหนว่าผู้ใดทำขาย เคยเหนแต่ทำรับประทาน ถ้าจะคิดราคาที่ลงทุนทำราคาถ้วยละ ๑ อัฐ [2]

จากข้อมูลดังประมวลมาข้างต้น คงจะทำให้ปริศนาเรื่องความเป็นมาของไข่เต่าและความเป็น “ขนมพี่ขนมน้อง” ของปลากริมกับไข่เต่า ได้กระจ่างและชัดเจนมากขึ้น

ขนมเล็บมือนางกับน้องชายสุดรักของ“ตาอุ้ย”





ขนมชนิดสุดท้ายที่คัดมาคือ “ขนมเล็บมือนาง” เมืองตราดเรียกว่า “ขนมควยตาอุ้ย” เหตุที่มาของชื่อนี้นั้นมีที่มา มีนิทานอธิบายไว้ดังปรากฏในวิทยานิพนธ์ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขาภาษาไทย มหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร ของ จงกล เก็ตมะยูร เรื่อง “วิถีชีวิตของชาวบ้านในนิทานพื้นบ้าน อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด: การศึกษาเชิงวิเคราะห์” เล่าโดยนายผิว สิงหพันธ์
นิทานเล่าว่า สมัยก่อนขนมเล็บมือนางเรียกว่า ขนมควยตาอุ้ย บ้างก็เรียก ขนมควยลี มีเรื่องเล่ากันสืบมาว่า ครั้งหนึ่งมีชายคนหนึ่งชื่อ ตาอุ้ย มีภรรยาเป็นคนซื่อและเขลาเบาปัญญานัก วันหนึ่งตาอุ้ยไปเยี่ยมเพื่อนที่อยู่ต่างหมู่บ้าน เพื่อนของตาอุ้ยและภรรยาต้อนรับขับสู้ตาอุ้ยอย่างมิได้บกพร่อง เลี้ยงดูปูเสื่อตาอุ้ยเป็นอย่างดี เมื่อกลับไปถึงบ้านตาอุ้ยจึงเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ภรรยาของตนฟัง ทั้งยังชมภรรยาของเพื่อนว่าเป็นคนสวย มีเสียงอันไพเราะ และต้อนรับขับสู้เขาดีเหลือเกิน และสั่งภรรยาว่าอีกไม่กี่วันเพื่อนของตาอุ้ยจะมาเยี่ยม ให้เตรียมต้อนรับเพื่อนของเขาให้ดีอย่าให้ขาดตกบกพร่อง








เมื่อเพื่อนตาอุ้ยมาถึง เมียตาอุ้ยก็หลบไปอยู่ในครัวรอเวลาให้สามีเรียกมาแนะนำให้เพื่อนรู้จัก ครั้นเมื่อตาอุ้ยเรียก นางก็เอาสังเวียนคลุมหัวเดินมาแล้วร้องว่า “กาเหว่า กาเหว่า” ตาอุ้ยทั้งโกรธทั้งอาย ไม่อยากคุยด้วย ฝ่ายภรรยาก็ถามตาอุ้ยว่า “แกทำขนมอะไรดี” เพราะจะได้นำมาเลี้ยงแขก ฝ่ายตาอุ้ยก็โกรธเหลือเกินแล้วหันมาป้องปากกระซิบด่าภรรยาว่า “ขนมควย” ภรรยาก็เกิดคิดว่าเป็นคำสั่ง เกิดพุทธิปัญญาขึ้น รีบวิ่งไปเข้าครัวนวดแป้งแล้วโม่ทับจนแห้ง แล้วนำมาปั้นเป็นรูปร่างตาม “คำสั่ง” ของสามีพร้อมกับ “ลูกโป่งสวรรค์” แนบไปอีก ๒ ลูก แล้วเอาไปใส่หม้อต้ม พอสุกแป้งก็ลอยขึ้นมา ก็ตักขึ้นมาใส่จาน แต่เมื่อภรรยาตาอุ้ยพิจารณาดูแล้วก็คิดว่ายังไม่ครบเหมือนจะขาดอะไรไปอย่างหนึ่ง นึกขึ้นได้จึงไปเอามะพร้าวมาขูดหยาบๆ เอาโรยทับขนมที่นางเพิ่งจะสร้างสรรค์ขึ้น เมื่อดูถี่ถ้วนแล้วว่าตรงตามคำสั่งสามี ก็นำมาให้เพื่อนของตาอุ้ยรับประทาน
ตาอุ้ยเห็นขนมเข้าก็ตกใจ โกรธจนพูดไม่ออก ส่วนเพื่อนตาอุ้ยกับภรรยานั้นเมื่อแรกเห็นก็ไม่กล้าหัวเราะ ได้แต่ยิ้มแล้วก็ว่า “นี่ขนมอะไรกันนี่ เห็นแล้วน่าอุจาดเหลือเกิน” แต่ด้วยความเกรงใจภรรยาตาอุ้ย เพื่อนตาอุ้ยจึงลองหยิบมาชิมเพื่อรักษามารยาท ปรากฏว่ารสชาติดี อร่อยมาก ครั้นเมื่อกลับไปถึงบ้านจึงสั่งภรรยาให้ทำขนมอย่างที่ภรรยาตาอุ้ย แต่ก็กำชับว่า “แต่ว่าเราอย่าไปตัดเป็นรูปร่างเหมือนอย่างเขา ให้เอามือมาใส่แล้วปั้นๆ ใส่กระทะ ปั้นๆ ใส่กระทะ มันแหลมสองข้างใช่ไหม ก็ยาวๆ ก็ตัดมาแล้วเอามะพร้าวโรยๆ เข้าก็อร่อย เป็นดัดแปลงเป็นขนมควยลี ไม่ใช่ขนมควยตาอุ้ยแล้ว” ต่อมาสูตรขนมนี้ได้แพร่หลายกันทั่วไป และยังคงเรียก “ขนมควยตาอุ้ย” อยู่นั่นเอง แม้เดี๋ยวนี้คนเฒ่าคนแก่ในเมืองตราดก็ยังเรียกกันเช่นนี้อยู่ จนเมื่อไม่นานมานี้เห็นว่าไม่สุภาพจึงหันมาเรียกกันว่า “ขนมเล็บมือนาง” เช่นคนในเมืองกรุง
นิทานข้างต้นไม่ใช้เรื่องหยาบโลนไร้ประโยชน์หาสาระมิได้แต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับเป็นนิทานมุขตลกที่ระบายออกซึ่งความกดดันในสังคมที่เคร่งครัดกฎระเบียบมากมาย ทั้งยังทำหน้าที่ในการอธิบายความเป็นมาของชื่อขนม ซึ่งเท่าที่ทราบ ยังไม่มีขนมชนิดใดได้รับ “เกียรติ” ให้มีเรื่องเล่าความเป็นมาเป็นของตัวเองเช่นขนมตาอุ้ยนี้มาก่อน
นอกจากขนมต่างๆ ดังกล่าวมาข้างต้นแล้วยังมีขนมน่าสนใจอีกมาก เช่น ขนมมักง่าย ที่คนรวยหากินไม่ได้ง่ายๆ เพราะไม่ค่อยมีคนทำกันเป็นมะพร้าวขูดผัดกับน้ำตาล หรือขนมของก๋งย่ด ซึ่งเป็นเจ้าที่ที่บ้านหนองพรอด ต.ท่าพริก เวลาจะไหว้ต้องไหว้ขนมหวาน และขนมที่ท่านชอบคือข้าวเหนียวมูนเปล่าๆ กับน้ำกะทิหวาน เป็นต้น นอกจากนี้ยังขนมในเทศกาลสำคัญๆ เช่น ขนมมัดไต้ กับขนมเทียน ที่จะทำเฉพาะเทศกาลจี๊เจ้กปั้ว เทศกาลตรุษจีน[3] ประเพณีแข่งเรือ (ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๗) เทศกาลสารทไทย

เรื่องเล่าเกี่ยวกับขนมในเมืองตราด ไม่เพียงจะช่วยอธิบายประวัติความเป็นมาและบทบาทของขนมในสังคมชาวตราดเท่านั้น หากยังช่วยเพิ่ม “รสชาติ” ให้ขนม “กลมกล่อม” มากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังช่วยสร้างความ “ภาคภูมิใจ” ให้ทั้งคนที่ได้ทานและคนที่ได้ทำไปพร้อมๆ กันด้วย ว่าตนได้เป็นส่วนหนึ่งในการรักษาภูมิปัญญาของบรรพชนไว้ ฉะนั้น หากใครผ่านไปยังเมืองตราดก็ควรจะได้ลองไปชิมฝีมือขนมของชาวตราดสักครั้งแล้วจะอร่อยจนหาทางกลับไม่ถูกเลยทีเดียว









บรรณานุกรม

งานแสดงนิทรรศการสินค้าพื้นเมืองไทยในพระราชพิธีสมโภชพระนครครบร้อยปี
พ.ศ. ๒๔๒๕. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: ต้นฉบับ, ๒๕๔๓.
จงกล เก็ตมะยูร. “วิถีชีวิตของชาวบ้านในนิทานพื้นบ้าน อำเภอคลองใหญ่ จังหวัด
ตราด: การศึกษาเชิงวิเคราะห์” วิทยานิพนธ์ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขาภาษาไทย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร , ๒๕๓๘.
เปลี่ยน ภาสกรวงศ์,ท่านผู้หญิง แม่ครัวหัวป่าก์. (พิมพ์ครั้งที่ ๖) กรุงเทพฯ: สมาคม
กิจวัฒนธรรม, ๒๕๔๕.
ส. พลายน้อย. ขนมแม่เอ๊ย. (พิมพ์ครั้งที่ ๓). กรุงเทพฯ: สารคดี, ๒๕๔๕.
อภิลักษณ์ เกษมผลกูล. อัฐยายซื้อขนมยาย. พิมพ์แจกชำร่วยในงานบำเพ็ญกุศล
สตมวาร คุณยายสลิด เกษโกวิท ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๐ ณ วัดท่าพริก ตำบลท่าพริก อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด. (เอกสารอัดสำเนา)



[1] งานแสดงนิทรรศการสินค้าพื้นเมืองไทยในพระราชพิธีสมโภชพระนครครบร้อยปี พ.ศ. ๒๔๒๕. พิมพ์ครั้งที่ ๒ กรุงเทพฯ: ต้นฉบับ, ๒๕๔๓. หน้า ๒๒-๒๓.
[2] งานแสดงนิทรรศการสินค้าพื้นเมืองไทยในพระราชพิธีสมโภชพระนครครบร้อยปี พ.ศ. ๒๔๒๕. พิมพ์ครั้งที่ ๒ กรุงเทพฯ: ต้นฉบับ, ๒๕๔๓. หน้า ๑๗.
[3] เทศกาลตรุษจีนนี้ ชาวตราดถือว่าเป็น “เจ้ยใหญ่” เป็นประเพณีที่ทุกบ้านต้องปฏิบัติ ส่วนเทศกาลอื่นๆ จะมีพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละบ้าน

รอยสัก ร.ศ.๑๑๒ ตราด






รอยสัก “ร.ศ.๑๑๒ ตราด”

อภิลักษณ์ เกษมผลกูล
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เหตุการณ์วิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ และการสูญเสียเมืองตราดให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศส นับได้ว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ที่ไม่เพียงสร้างความทุกข์ระทมและเจ็บช้ำใจให้แก่ราษฎรชาวตราดเท่านั้น หากแต่ความรู้สึกเดียวกันนี้ยังอยู่ในหัวใจของราษฎรชาวสยามทั้งแผ่นดินอีกด้วย



หากจะย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ทั้ง ๒ เหตุการณ์นี้ แม้ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่ต่างวาระกัน แต่เหตุการณ์ทั้งสองนี้ก็ล้วนเป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน กล่าวคือวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ เริ่มต้นขึ้นเมื่อจักรวรรดินิยมฝรั่งเศส ได้ขยายอิทธิพลเข้ามาครอบครองอินโดไชน่า อันประกอบด้วย โคชิน ตังเกี๋ย อันนัม กัมพูชาและบางส่วนของลาว มาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา ต่อมาฝรั่งเศสก็อ้างว่า ดินแดนของลาวเดิมเป็นสิทธิของเวียดนาม ตามที่เจ้าอนุวงศ์เคยทำสัญญายกเมืองลาวให้เวียดนาม เพื่อขอลี้ภัยการเมือง ในคราวที่เจ้าอนุวงศ์ก่อกบฏในสมัยรัชกาลที่ ๓ และเมื่อเวียดนามเป็นดินแดนในการคุ้มครองของฝรั่งเศสแล้ว จึงสมควรที่แผ่นดินลาวต้องเข้ามาอยู่ในการดูแลของฝรั่งเศสด้วย รัฐบาลสยามจึงได้ส่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ ศิลปาคมให้ทรงขึ้นไปตั้งกองบัญชาการลาวพวนอยู่ที่เมืองหนองคายเพื่อป้องกันการรุกรานของฝรั่งเศส
ครั้นวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ ( ร.ศ.๑๑๒) มองซิเอร์ลุซ ชาวฝรั่งเศส คุมทหารญวนในสังกัดฝรั่งเศสเข้าปล้นค่ายยึดเมืองคำมวน เมืองหน้าด่านพระราชอาณาเขตสยามซึ่งมี “พระยอดเมืองขวาง” เป็นข้าหลวงรักษาเมือง ซึ่งก็มิได้ต่อสู้ขัดขวาง เพราะเกรงกระทบไมตรีระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ซึ่งรัฐบาลสยามได้พยายามประท้วงไปทางฝรั่งเศส แต่ก็ไม่เป็นผล ฝรั่งเศสยืนกรานว่า เมืองคำมวนเป็นของฝรั่งเศส และพระยอดเมืองขวางก็คือผู้บุกรุก “มองซิเออร์ปาวี
” ยื่นประท้วงโดย "ให้ลงโทษพระยอดเมืองขวางสถานหนักและให้สยามประเทศจ่ายค่าทำขวัญให้แก่ครอบครัวทหารฝรั่งเศส ญวนและเขมรที่ถูกฆ่าตาย" เหตุการณ์ครั้งนี้ได้นำไปสู่คดีประวัติศาสตร์ "คดีพระยอดเมืองขวาง" และ "วิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ " ในเวลาต่อมา
ผลจากความขัดแย้งข้างต้นนำมาสู่การรบที่ปากน้ำ ระหว่างทหารไทยและทหารฝรั่งเศส ผลปรากฏว่าไทยเป็นฝ่ายสูญเสียมาก แม้ว่ากองทัพเรือไทยจะพยายามรบอย่างสุดกำลัง เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ฝรั่งเศสเรียกร้องสิทธิ (สนธิสัญญาสันติภาพ)และค่าเสียหายจากรัฐบาลสยาม(ค่าปฏิกรรมสงคราม)เป็นจำนวนเงินมหาศาล เหตุการณ์ในครั้งนั้นสร้างความโทมนัสให้แก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับทรงพระประชวรด้วยทรงตรอมพระทัย ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์ที่ทรงมีพระราชปรารภพระราชทานแก่ผู้ใกล้ชิดของพระองค์ความตอนหนึ่งว่า

๏ กลัวเป็นทวิราช บตริป้องอยุธยา
เสียเมืองจึงนินทา บละเว้นฤวางวาย
คิดใดจะเกี่ยงแก้ ก็บ่พบซึ่งเงื่อนสาย
สบหน้ามนุษย์อาย จึงจะอุดแลเลยสูญ

ต่อมาในปี ร.ศ. ๑๒๒ ฝรั่งเศสได้ให้สัตยาบันที่กรุงปารีส เมื่อเดือนธันวาคม ๒๔๔๗ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ มีผลให้จังหวัดตราดและบรรดาเกาะทั้งหลายภายใต้แหลมลิงไปต้องตกไปเป็นของฝรั่งเศส แม้ว่าจากหลักฐานสัญญาลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๖ ไม่มีข้อความใดระบุการครอบครองจังหวัดตราดไว้เลย แต่ในข้อ ๓ แห่งสัญญาระบุไว้ว่า รัฐบาลฝรั่งเศสและรัฐบาลไทยต่างจะตั้งข้าหลวงผสมกันออกไปทำการกำหนดเขตแดน และได้มีการกำหนดปักปันเขตแดนกันตรงแหลมลิง (ในตำบลบางปิด อำเภอแหลมงอบ) จึงดูเหมือนว่าฝรั่งเศสได้สิทธิในการครอบครองเมืองตราดแทนจันทบุรี[1]
เมื่อข่าวการยึดครองของฝรั่งเศสแพร่สะพัดรู้ไปถึงราษฎร ต่างก็ตกใจและเกิดการอพยพ แต่ด้วยเดชะพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระปรีชาสามารถ และสายพระเนตรที่ยาวไกล จึงได้ทรงพยายามในทุกวิถีทางที่จะให้เกิดความสงบเรียบร้อยภายในบ้านเมือง ความพยายามของพระองค์ท่านที่จะประวิงเวลาให้เมืองตราดคงอยู่ในพระราชอาณาจักรไร้ผล ฝ่ายไทยจึงต้องยอมมอบเมืองตราให้แก่ฝรั่งเศสแน่นอน ในวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๔๔๗
สำหรับพิธีส่งมอบเมืองนั้น รัฐบาลสยามได้มอบหมายให้พระยามหาอำมาตยาธิบดี ซึ่งขณะนั้นบรรดาศักดิ์ เป็น พระยาศรีสหเทพ เดินทางไปที่จังหวัดตราดโดยเรือรบหลวงมกุฏราชกุมาร ซึ่งในวันที่มีการมอบหมายส่งดินแดนให้แก่เจ้าพนักงานฝ่ายฝรั่งเศสนั้นได้กระทำกัน ณ ศาลาว่าการจังหวัดตราด ( บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดตราดในปัจจุบัน ) ต่อหน้า พระยาพิพิธพิไสยสุนทรการ (สุข ปริชญนนท์) ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดตราด และ พระจรูญภาระการ (โป๊ กูรมะโรหิต) ซึ่งในขณะนั้นเป็นหลวงรามฤทธิรงค์ ตำแหน่งยกกระบัตรเมืองตราด พระยามหาอำมาตยาธิบดีได้ทำหนังสือสำคัญโดยลงชื่อมอบให้เรสิดังต์กำปอตผู้เป็นข้าหลวงฝ่ายฝรั่งเศส เสร็จแล้วพระยามหาอำมาตยาธิบดีพร้อมด้วยข้าราชการเมืองตราดและเมืองประจันตคีรีเขตต์ (เกาะกง) บางคน มีพระยาพิพิธพิไสยสุนทรการ พระจรูญภาระการ และนายวาศผู้พิพากษาศาลจังหวัดประจันตคีรีเขตต์และครอบครัว ได้พากันออกจากจังหวัดตราดโดยเรือรบหลวงมกุฏราชกุมาร กลับเข้าสู่กรุงเทพมหานคร[2]

พิธีชักธงสยามลง และชักธงฝรั่งเศสขึ้นสู่ยอดเสา
ในพิธีส่งมอบเมืองตราดให้แก่ฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๔๔๗

ในการมอบหมายจังหวัดตราดให้แก่ฝรั่งเศสในครั้งนั้น ยังความโทมนัสเสียใจให้แก่บรรดาข้าราชการที่อยู่ในเหตุการณ์เป็นอย่างยิ่ง ดังความปรากฏในบันทึกของหลวงสาครคชเขตต์ ความตอนหนึ่งว่า “กล่าวกันว่าในวันนั้นพวกไทยเราถึงกับพากันน้ำตาตกและเต็มตื้นไปด้วยกันทุกคน”[3]
อนึ่งในการที่ฝรั่งเศสมาอยู่เมืองตราดในคราวนี้พระยามหาอำมาตยาธิบดีได้สังเกตดูกริยาอาการและถ้อยคำของฝรั่งเศสที่พูดดูไม่พอใจในการได้เมืองตราดมา ทั้งนี้เพราะเห็นว่าเป็นเมืองยากจนพื้นที่ดินไม่อุดมสมบูรณ์ การที่จะมาทางเเรืออขึ้นเมืองก็แสนลำบาก อ่าวก็ใช้อะไรไม่ได้ ถึงตัวมองสิเออร์มอเรลเอง เมื่อขึ้นมาถึงเมืองร้องว่าต้งลงเรือเล็กมาลำบากถึง ๗ ชั่วโมง คลื่นซัดเปียก คนที่มาด้วยก็ต้องอดอาหารตั้งแต่ ๑๑ ทุ่มถึงบ่ายโมงเศษ[4]

พระฉายาลักษณ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

“เหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒” และ “การสูญเสียเมืองตราด” นี้เอง เป็นเสมือนรอยแผลในใจของชาวไทยทุกคน เจ้านายพระองค์หนึ่งที่ทรงรู้สึกเจ็บแค้นร่วมกับราษฎรสยามทั้งชาติ คือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์[5] (พระยศในขณะนั้น ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์) ทั้งยังทรงเห็นความโทมนัสของสมเด็จพระราชบิดามาโดยตลอด
เมื่อพระองค์ทรงมีพระชันษา ๒๖ ปี คือในราว พ.ศ.๒๔๔๙ (ซึ่งขณะนั้นเมืองตราดยังอยู่ในบังคับของฝรั่งเศสอยู่) ทรงมีพระประสงค์สักข้อความบนกลางพระอุระว่า “ร.ศ.๑๑๒ ตราด” เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจถึงรอยแผลที่รัฐบาลฝรั่งเศสในครั้งนั้นทำไว้ต่อแผ่นดินไทย นอกจากนี้ยังทรงโปรดให้บรรดาศิษย์ของพระองค์ที่ทรงโปรดปราน สักข้อความไว้ดุจเดียวกัน
หนึ่งในบรรดาศิษย์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์คนหนึ่ง คือ พลเรือตรี พระยาหาญกลางสมุทร ร.น. (บุญมี พันธุมนาวิน)[6] (นายทหารเรือไทยคนแรกที่ได้ไปศึกษาวิชาการเรือดำน้ำ ณ ประเทศอังกฤษ เป็นนายทหารรุ่นบุกเบิกและเป็นศิษย์คนสนิทของกรมหลวงชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์) ได้เคยถ่ายรูปรอยสักของตนไว้ ซึ่งตัวหนังสือที่อยู่ที่กลางหน้าอกคือคำว่า “ร.ศ.๑๑๒ ตราด” ท่านเจ้าคุณเขียนคำอธิบายไว้ว่าท่านสักไว้ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ที่โรงเรียนนายเรือ อายุราว ๑๖ ปี เมื่อราวพ.ศ.๒๔๔๙ แต่ถ่ายรูปนี้ไว้เมื่ออายุได้ ๕๑ ปี เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๔ มีคำบรรยายพิมพ์บอกไว้ใต้รอยสักในรูปว่า

“การสัก ร.ศ.๑๑๒ และตราด นี้ ก็เนื่องมาจากที่ชาติไทยถูกอินโดจีน ฝรั่งเศส รุกรานใน ร.ศ. ๑๑๒ นั้น และยังโกงยึดเมืองตราดไว้อีกจนไทยต้องยอมยกมณฑลบูรพาแลกเปลี่ยน เรื่องนี้ในกรมหลวงชุมพรฯ พระอาจารย์ของข้าพเจ้าทรงเกรี้ยวกราดและเจ็บแค้นฝังพระทัยนักหนา ทรงทนไม่ไหวและจะได้เป็นที่ระลึกและฝังใจกันได้เพื่อทำการตอบแทน จึงได้ทรงสัก ร.ศ.๑๑๒ และ ตราด ในพระองค์ท่าน และบรรดาสานุศิษย์ที่โปรดปรานทั่วไป ข้าพเจ้าสักในวันรุ่งขึ้นจากวันที่พระองค์ทรงสักอายุราว ๑๖ ปี”




รอยสัก “ร.ศ.๑๑๒ ตราด” ของ
พลเรือตรี พระยาหาญกลางสมุทร ร.น. (บุญมี พันธุมนาวิน)

ภาพรอยสัก ร.ศ.๑๑๒ และตราด เป็นภาพที่แสดงออกถึงความรู้สึกเจ็บแค้นเป็นพ้นทวีต่อรอยแผลในประวัติศาสตร์ และความรู้สึกรักและเทิดทูนชาติที่น่ายกย่องยิ่ง รอยสักนี้คงจะเป็นบทเรียนและอนุสรณ์ถึงความทรงจำในอดีต หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารอยสักนี้จักเป็นเครื่องเตือนใจให้ชาวตราดและคนในชาติสมานสามัคคี และร่วมแรงร่วมใจกันในการธำรงไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยดุจเดียวกันกับเมื่อครั้งอดีต
สุดท้ายผู้เขียนขอนำบันทึกซึ่งอ้างกันสืบมาว่าเป็นบันทึกของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เห็นว่าเป็นเครื่องเตือนใจและปลูกจิตสำนึกรักชาติได้อย่างดียิ่ง จึงขอนำมาลงไว้ท้ายบทความนี้

กู กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ผู้เป็นโอรสของพระปิยมหาราช ขอประกาศให้พวกมึงรับรู้ไว้ว่าแผ่นดินสยามนี้ บรรพบุรุษ ได้เอาเลือดเอาเนื้อเอาชีวิตแลกไว้ ไอ้อีมันผู้ใด คิดชั่วร้ายทำลายแผ่นดิน ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ฤากระทำการทุจริต ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อส่วนรวม จงหยุดการกระทำนั้นเสียโดยเร็วก่อนที่ที่กูจะสั่งทหารผลาญสิ้นทั้งโคตรให้หมดเสนียดของแผ่นดินสยามอันเป็นที่รักของกู
ตราบใดที่คำว่า "อาภากร" ยังยืนหยัดอยู่ในโลก กูจะรักษาผืนแผ่นดินสยามของกู ลูกหลานทั้งหลาย แผ่นดินใดให้เรากำเนิดมา มิให้อนาทรร้อนใจ จงซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินนั้น แผ่นดินใดที่ให้ซุกหัวนอน ให้ความร่มเย็นเป็นสุข มิให้อนาทรร้อนใจ จงซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินนั้น

บรรณานุกรม

กองจดหมายเหตุแห่งชาติ รัชกาลที่ ๕ ฝ. ๑๙/๑๑ เรื่องมอบเมืองที่ยกให้ฝรั่งเศสตามสัญญา
ฝรั่งเศสลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๑๒๒. (เอกสารไม่ตีพิมพ์).
สาครคชเขตต์,หลวง. จดหมายเหตุความทรงจำสมัยฝรั่งเศสยึดจันทบุรี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๖
ถึง พ.ศ. ๒๔๔๗. พิมพ์ครั้งที่ ๓ . กรุงเทพฯ: ต้นอ้อ แกรมมี่, ๒๕๓๙.
สำนักงานจังหวัดตราด. ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดตราด. กรุงเทพฯ : อักษรสมัย,
๒๕๒๗.
หาญกลางสมุทร,พลเรือตรี พระยา. ประวัติโรงเรียนนายเรือ ประวัติการจับเชลย. อนุสรณ์งาน
พระราชทานเพลิงศพพลเรือตรีพระยาหาญกลางสมุทร (บุญมี พันธุมนาวิน) ร.น.
วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๑๗.
อภิลักษณ์ เกษมผลกูล. รายงานการวิจัยเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
เจ้าอยู่หัว “ตามรอยเสด็จเกาะช้าง จังหวัดตราด”. กรุงเทพฯ: องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ร่วมกับ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตราด, ๒๕๔๙.
[1]สำนักงานจังหวัดตราด . ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดตราด. ( กรุงเทพฯ : อักษรสมัย , ๒๕๒๗) หน้า ๓๒.
[2] สาครคชเขตต์,หลวง. จดหมายเหตุความทรงจำสมัยฝรั่งเศสยึดจันทบุรี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๖ ถึง พ.ศ. ๒๔๔๗. พิมพ์ครั้งที่ ๓ . (กรุงเทพฯ: ต้นอ้อ แกรมมี่, ๒๕๓๙.) หน้า ๗.
[3] สาครคชเขตต์ , หลวง. เรื่องเดิม. หน้า ๘.
[4] กองจดหมายเหตุแห่งชาติ รัชกาลที่ ๕ ฝ. ๑๙/๑๑ เรื่องมอบเมืองที่ยกให้ฝรั่งเศสตามสัญญาฝรั่งเศสลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๑๒๒.
[5] พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ - ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๖) ทรงเป็นต้นราชสกุล "อาภากร" เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๒๘ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และองค์ที่ ๑ ในเจ้าจอมมารดาโหมด พระองค์ทรงได้รับสมัญญานามว่า "องค์บิดาของทหารเรือไทย" พระองค์ทรงเป็นผู้วางรากฐานการบริหารงานของกองทัพเรือ ทรงได้รับการเชิดชูในหมู่ทหารเรือเรียกขานพระองค์ว่า "เสด็จเตี่ย" หรือ "หมอพร" และ "พระบิดาแห่งกองทัพเรือไทย" ต่อมาในปี ๒๕๓๖ มีประกาศกองทัพเรือขนานพระนามพระองค์ว่า "พระบิดาของกองทัพเรือไทย" และในปี ๒๕๔๔ แก้ไขเป็น "องค์บิดาของทหารเรือไทย"
[6] พลเรือตรี พระยาหาญกลางสมุทร ร.น. (บุญมี พันธุมนาวิน) (๒๒ พฤศจิกายน ๒๔๓๓ – ๒๒ มกราคม ๒๕๑๘) ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บังคับกองจับเรือเชลยในวันที่ประเทศไทยประกาศสงครามต่อประเทศเยอรมนีและออสเตรีย ฮังการี วันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๐